TMB Analytics ชี้ เศรษฐกิจไทย 2554 โตไม่ถึง 4%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 09:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ธนาคารทหารไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB หรือ TMB Analytics คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2554 จะเติบโตได้ร้อยละ 3.6 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของหลายๆสำนัก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้านั้น มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในปีนี้ จากที่เคยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 28 ในปีที่แล้ว เราจึงประเมินว่าการที่เศรษฐกิจไทยจะโตเกินระดับร้อยละ 4 นั้น ดูเหมือนว่าเป็นไปได้ยาก ปัจจัยแรกและสำคัญที่สุด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือ ญี่ปุน โดยเศรษฐกิจสหรัฐซึ่ง FED หวังว่าจะกลับมาโตได้ร้อยละ 3.3% ในปีนี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเดือนมกราคมก็ยังปรับลดลงมาจากระดับที่ดีขึ้นในช่วงปลายปี 2553 ราคาบ้านก็ยังอยู่ในระดับต่ำและอัตราการว่างงานที่มากกว่าร้อยละ 9 ดังนั้น หนทางที่จะฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตอย่างต่อเนื่องก็คือ ต้องทำให้อุปสงค์และอุปทานกลับมามีความสมดุลได้อีกครั้ง ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวยังไม่น่าบรรลุในปีนี้ ส่วนยุโรป แม้ว่าหลายประเทศใหญ่อย่างเช่นเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป ก็ยังเติบโตได้ดีและน่าจะช่วยดึงเศรษฐกิจโดยรวมของยุโรปไว้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาการคลังที่ปะทุขึ้นในหลายประเทศยังเป็นปัจจัยรั้งที่ทำให้อัตราการขยายตัวจะถูกประเมินไว้เพียงแค่ร้อยละ 1.4 สำหรับญี่ปุ่นนั้น มีสถานการณ์แย่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภายในประเทศที่ยังลดลง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่หดหาย และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆที่ออกมาหมดแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผล สิ่งเดียวที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจญีปุ่นได้ก็คือ การส่งออก แต่ก็เกิดคำถามอีกว่าในเมื่อคู่ค้าอย่างสหรัฐ และ ยุโรป มีสภาพเศรษฐกิจที่ลุ่มๆดอนๆไม่ต่างกัน ญี่ปุ่นก็อาจมีตลาดเดียวที่จะพึ่งได้ก็คือ จีน ซึ่งเศรษฐกิจจีนเองก็กำลังถูกประเมินว่าจะชะลอตัวลง และอาจมีปัญหาเงินเฟ้อที่น่ากังวลได้ ดังเห็นได้จากการที่ทางการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเหนือความคาดหมายของตลาด ไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปีก่อน และการปรับขึ้นอัตราเงินสดกันสำรองอีก 50 bps เมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 5.1 ในเดือนพฤศจิกายน แต่ดูเหมือนว่าหากเป็นความรู้สึกของประชาชน อัตราเงินเฟ้อจะสูงถึงร้อยละ 10 ทีเดียว จึงเป็นข้อให้หลายฝ่ายกังขาว่าปัญหาเงินเฟ้อในจีนจริงๆแล้วอยู่ที่ระดับไหน ดังนั้น การใช้นโยบายการเงินที่ทันการณ์และในขนาดที่เหมาะสมต่อการปรามเงินเฟ้อ โดยไม่เลยเถิดจนไปจนกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพูดถึงปัจจัยเงินเฟ้อแล้วก็ต้องย้อนกลับมามองเศรษฐกิจภายในประเทศ ต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงใครก็ตามที่อิงการปรับเงินเดือนไปกับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้ การผลิตสินค้าและบริการทุกอย่างต้องมีแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ราคาสินค้าและบริการก็จะถูกปรับขึ้นตาม จากการศึกษาของเราพบว่าทุก 10 บาทของค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงน้ำมันยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากราคาโลหะที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในปี 2553 และ ราคาน้ำมันที่ถูกมองว่าจะแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งราคาน้ำมันปาล์มและยางพาราที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงร้อยละ 70 และร้อยละ 60 ตามลำดับ ทั้งนี้ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าและบริการซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เราจึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะเพิ่มจากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 3.00-3.25 ในปีนี้ หมายความถึง ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเช่นกัน เมื่อดอกเบี้ยขึ้น การแข็งค่าของบาทจึงเป็นเรื่องที่ต้องถามตามมา เนื่องจากแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าเอเชียยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกในปีนี้ไม่ร้อนแรงแบบปีที่แล้ว และผู้ส่งออกไทยก็จะถูกบีบเรื่องกำไรด้วยแนวโน้มเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่น่าจะแข็งกว่า 29 บาทได้ในปี 2554 ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยแตกต่างจากประเทศผู้ส่งออกอื่นๆใน 2554 คือ เรื่องการเมืองภายในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในปีนี้ อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและวุ่นวายตามมาได้ อันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและบรรยากาศการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐซึ่งในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับที่เศรษฐกิจไทยเคยทำได้เมื่อปี 39 ก่อนวิกฤตปี 40 ท้ายสุดเป็นเรื่องของฐานการคำนวณอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น หากในปี 2552 เศรษฐกิจไทยไม่หดตัว อัตราการเติบโตในปี 2553 อาจจะอยู่ที่ร้อยละ 5.0 แทนที่จะเป็นร้อยละ 7.8 ดังนั้น ฐานการคำนวณของปี 2554 ที่มาจากปี 2553 ซึ่งเติบโตในเกณฑ์สูง จะทำให้การเติบโตของปี 2554 ไม่มาก นอกจากนี้ เราสามารถพิจารณาได้อีกทางหนึ่งด้วยว่าเศรษฐกิจควรจะเติบโตขนาดเท่าใด จากความแตกต่างระหว่างศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะเป็นได้หากมีการจ้างงานเต็มที่ กับ การเติบโตของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง หรือ ที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า ”OUTPUT GAP” ซึ่ง การที่เศรษฐกิจไทยจะโตถึงร้อยละ ในปี 2554 นั้น เศรษฐกิจต้องขยายตัวเกินกว่าศักยภาพที่จะทำได้อย่างมากเช่นช่วงต้นปี 2551 ซึ่งเมื่อดูตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะอยู่ในระดับกลางๆ แต่ต่อเนื่องมากกว่า
แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ