กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด)มหาชน เปิดพื้นที่สื่อสารความดี ผ่านบันทึกออนไลน์หรือการเขียนบล็อก(Blog)ในเว็บไซต์ www.okkid.net หนุนเยาวชนจิตอาสาได้มีช่องทางประกาศการทำดี ร่วมแชร์ ร่วมคิด ร่วมสร้างสื่อกลางขับเคลื่อนพลังเยาวชนจิตอาสาในสังคมไทย
การทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนย่อมสร้างความสุขกับผู้ให้เสมอ พื้นที่เล็กๆในการสื่อสารความดีแบบชุมชนออนไลน์ในรูปแบบการเขียนบล็อก(Blog)หรือการเขียนบันทึกออนไลน์ จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่สะดวก ประหยัด และขยายผลต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุด
นางรัตนา กิตติกร ผู้จัดการโครงการสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด)มหาชน เปิดเผยว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลฯได้สนับสนุนให้เกิดโครงการจัดอบรมบล็อกผ่านเว็บไซต์ www.okkid.net ในหัวข้อ “โครงการดี มีคนเห็น กับการใช้เครื่องมือสื่อสารในรูปแบบ COPs (Community Of Practice : เครื่องมือเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ออนไลน์ผ่านเว็บบล็อกของ www.okkid.net” ซึ่งดำเนินงานโดย โครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา มูลนิธิกระจกเงา เพื่อสร้างโอกาสและเปิดพื้นที่เล็กๆผ่านเว็บไซต์ให้กลายเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนพลังเยาวชนจิตอาสาในสังคมไทย
นางสาวกรวิกา ก้อนแก้ว หัวหน้าโครงการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา กล่าวด้วยว่า การสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเยาวชนในรูปแบบออนไลน์ โดยมีเครื่องมือคือเว็บไซต์ Okkid นี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากการทำโครงการเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา โดยที่ผ่านมาได้มีกิจกรรมการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนหันมาทำงานจิตอาสาและได้เรียนรู้ว่ามี “พื้นที่”ในการทำงานใกล้ตัว คือ การทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลเด็ก เช่น เล่านิทานให้น้องๆที่ป่วยในโรงพยาบาลฟังต่อมาในปีที่สองของการทำงานจึงมีการขยายเป็น 10 โรงเรียนและมีนักเรียนเข้าร่วมจำนวน 100 คนในเขตกรุงเทพฯ เนื่องจากหลายคนมองว่า เด็กในเมืองสนใจเรียนเพียงอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้วเด็กๆแค่ไม่มีพื้นที่ในการทำงานจิตอาสา ดังนั้นการเปิดโอกาสและพื้นที่ทำดีจึงเริ่มต้น
สำหรับการดำเนินงานครั้งนี้ได้จัดให้มีกิจกรรมอบรมการเขียนบล็อกผ่านเว็บไซต์ www.okkid.net เพื่อสอนเนื้อหาการเขียนบล็อกและเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ข้ามกันระหว่าง 10 โรงเรียนนำร่อง เพื่อกระตุ้นให้นำโครงงานหรือผลงานการทำงานจิตอาสาในโรงเรียนของตนเข้ามานำเสนอในรูปแบบการเขียนบล็อก รวมทั้งสนับสนุนให้มีการส่งผลงานเข้าร่วมประกวดผ่านการใช้บล็อกของ www.okkid.net เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแบบออนไลน์
“คาดหวังว่าเด็กจะได้ใช้เครื่องมือเป็น รู้ช่องทางการสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการต่อยอดในการทำงานจิตอาสาในโรงเรียนซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจทำงานจิตอาสาภายในโรงเรียนอยู่แล้วแต่อาจจะรู้ได้แคบๆเฉพาะในโรงเรียนของตนเอง เช่น การรณรงค์ความสะอาดของห้องน้ำในโรงเรียน ,การประหยัดพลังงานในโรงเรียน, การรักษาความสะอาดในคลองบริเวณชุมชนใกล้โรงเรียน หรือการสอนหนังสือให้น้องในโรงเรียน เป็นต้น เมื่อเด็กๆได้เข้ามาอบรมเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอนการเขียนบล็อกออนไลน์ เขาก็จะสามารถแชร์เรื่องราว หรือเพื่อนต่างโรงเรียนมีปัญหาก็อาจเข้ามาช่วยแก้ไข และหวังว่าบล็อกนี้จะเป็นศูนย์รวมของเยาวชนที่ทำงานจิตอาสาในที่สุด”
นางประไพ จริตเอก ครูโรงเรียนสายน้ำผึ้งในพระอุปถัมภ์ฯ กล่าวว่า ในโรงเรียนสายน้ำผึ้งฯได้มีการเริ่มต้นทำงานจิตอาสาในกิจกรรม “1 โครงงาน 1 ความดีถวายในหลวง” เช่น ครูได้พาเด็กๆไปอบรมความรู้เรื่องการต่อต้านโรคเอดส์ และเด็กๆเขาก็กลับมาคิดต่อว่าจะนำความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา พฤติกรรมเสี่ยง ปัญหายาเสพติดมารณรงค์ได้อย่างไรบ้าง เมื่อเสร็จงานนั้นก็มีกลุ่มเด็กๆแตกยอดมาตั้งเป็น “ส.น.จิตอาสา”(สายน้ำผึ้งจิตอาสา)ทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลเด็ก เช่น ช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทำละครจิตอาสาโดยมีพี่ๆจากมูลนิธิหน้ากากเปลือยมาช่วยสอนเด็กๆให้ทำละครช่วงปิดเทอมหรือในวันสำคัญต่างๆอย่างละครต่อต้านยาเสพติด หรือการลงพื้นที่ช่วยเหลือคนในชุมชนต่างๆร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา
“สำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมเขียนบล็อกครั้งนี้ ครูก็บอกเด็กว่า เรามาศึกษาการเขียนบล็อกเพื่อเชิญชวนเพื่อนๆให้เข้ามาทำกิจกรรมจิตอาสาผ่านสื่อออนไลน์ และเห็นว่ากิจกรรมนี้ได้ใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ เช่น น้องเห็นพี่ทำอะไรดีก็อยากไปทำเหมือนพี่ด้วย ชวนกันมาทำดี เด็กมีความสุขที่เขาได้มีส่วนร่วมในการให้กับสังคม ครูก็พลอยมีความสุขไปด้วย นอกจากนี้เด็กๆยังได้ทักษะและได้ในสิ่งที่เขาไม่มีในรั้วโรงเรียน ครูยังดีใจที่ได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในการให้เหมือนกัน เด็กๆได้เจอกับคนหลายรุ่นและร่วมกันแลกเปลี่ยนความดี”
ด้าน นางสาววิภาวี ผุยนวล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ หรือโบแบ เล่าว่า เริ่มต้นทำงานจิตอาสาตั้งแต่เรียนชั้นม.3 โดยมีแรงบันดาลใจจากคุณพ่อที่ชอบทำงานช่วยเหลือสังคมและส่วนตัวเองก็ชอบด้วย
“หนูเริ่มต้นทำงานจิตอาสาด้วยการเป็นคณะกรรมการนักเรียน ช่วยงานปฐมนิเทศเพื่อนๆในโรงเรียน และเป็นไกด์คอยแนะนำกิจกรรมต่างๆในงานมหกรรมพลังเยาวชนของมูลนิธิสยามกัมมาจลฯ นอกจากนี้ยังเคยออกค่ายจิตอาสาช่วยทำฝายกั้นน้ำ ช่วยเหลือชุมชน อย่างการมาอบรมเขียนบล็อกวันนี้หนูชอบคอมพิวเตอร์อยู่แล้วก็จะนำความรู้ที่ได้ไปสอนเพื่อนและยังได้เพื่อนหลายโรงเรียนด้วย ได้สร้างเครือข่ายต่อไปเรื่อยๆความรู้ก็จะไม่ได้หยุดแค่เราคนเดียว”
สำหรับความคิดเห็นในการทำงานจิตอาสา โบแบ เธอบอกว่า “เวลามีกิจกรรมต่างๆในโรงเรียนหนูก็กลับไปสอนรุ่นน้องและให้น้องหัดทำต่อ เวลาน้องมีปัญหาก็คอยแนะนำ เปิดใจคุยกัน ดีไม่ดีอย่างไรจนงานสำเร็จ สำหรับการทำงานจิตอาสาโรงเรียนก็มีการบังคับว่าต้องทำจิตอาสา 20 ชั่วโมงต่อปีการศึกษา หนูว่าเหมือนเด็กโดนบังคับให้ทำ แต่กลายเป็นว่าเด็กที่ไม่เคยทำหากได้มาทำจริงๆจะรู้สึกชอบ อาจติดใจไปเลย
การเริ่มต้นในการทำงานจิตอาสาจะมีอุปสรรคบ้าง เช่น พ่อแม่ไม่รู้ว่าเราออกไปทำอะไร ต้องเสียค่ารถเอง เสียเวลา แต่หากเราอธิบายท่าน มีเอกสารยืนยันว่าเราออกไปทำอะไรจริงๆ แบ่งเวลาเรียนกับเวลาทำงานจิตอาสาให้เหมาะสมคิดว่าพวกท่านจะเข้าใจในที่สุด อย่างแม่หนูตอนแรกก็ไม่เข้าใจ แต่ตอนนี้แม่ก็ภูมิใจในการออกไปทำความดีของหนูค่ะ”
โบแบ ยังเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตัวเองเมื่อมาทำกิจกรรมจิตอาสาว่า “เมื่อก่อนเวลาใครทำอะไร หนูชอบมองโลกในแง่ร้าย เช่น เพื่อนไปช่วยครูก็รู้สึกว่าเขาอยากได้หน้า อยากได้คะแนน แต่ลองมองอีกด้าน เขาทำหน้าที่ของเขา เขาทำได้ก็ปล่อยให้เขาทำไป การทำจิตอาสายังสร้างคุณค่าให้ตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง คือ เหมือนเป็นงานที่เราไม่ได้อะไร ไม่ได้เงินทอง แต่หากเอาเวลาไปเล่นเกม ไปเที่ยว ก็เสียเงินเท่ากัน การมาทำงานจิตอาสายังได้รู้จักคนทำงานเพื่อสังคม ได้เพื่อนเพิ่มขึ้น และได้อย่างหนึ่งที่เงินหาซื้อไม่ได้ คือ ความสุข”