กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตาก พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ให้เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักในช่วงระยะนี้1-2 วันนี้ ( 29-30 สิงหาคม 2550 )รวมทั้งผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศในระยะนี้ พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ทุกภาคของประเทศยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดตาก พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี ชัยภูมิ นครราชสีมา พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรงในระยะ 1 - 2 (29-30 สิงหาคม 2550)วันนี้ รวมทั้งผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง และดินโคลนถล่มตามแนวเชิงเขา สำหรับชาวเรือ ควรระมัดระวังอันตรายจากการเดินเรือในระยะนี้ เบื้องต้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและคลื่นลมแรง โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มความระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา กรมปภ.ได้รับรายงานจากจังหวัดที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 20-27 สิงหาคม 2550 มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 จังหวัด 12 อำเภอ 53 ตำบล 274 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา และเชียงใหม่ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 32,473 คน 11,427 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรเสียหายทั้งหลัง 1 หลัง เสียหายบางส่วน 22 หลัง ถนน 184 สาย สะพาน 6 แห่ง โรงเรียน 1 แห่ง ท่อระบายน้ำ 46 บ่อปลา 60 บ่อ พื้นที่การเกษตร 150 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป