ปภ. แนะวิธีใช้...ทำลาย...ดูแลรักษา...สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday January 20, 2011 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ปภ. การดำเนินชีวิตในปัจจุบันล้วนต้องเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีอย่างเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้วิธีใช้งาน การจัดเก็บหรือทำลายอย่างถูกวิธี รวมถึงวิธีปฏิบัติกรณีได้รับอันตรายจากสารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีได้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีปฏิบัติอย่างปลอดภัย ดังนี้ การใช้ อ่านฉลากก่อนใช้งาน และปฏิบัติตามวิธีใช้อย่างเคร่งครัด สวมถุงมือ และรองเท้าทุกครั้งที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง สวมแว่นตา เพื่อป้องกันสารเคมีกระเด็นเข้าตา ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยป้องกันการสูดดมสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ห้ามทำให้เกิดประกายไฟหรือสูบบุหรี่ในขณะใช้ผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟง่าย หลังใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนผสมเสร็จแล้ว ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง การทำลาย ห้ามทิ้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีลงดิน ท่อระบายน้ำหรือโถส้วมอย่างเด็ดขาด ให้ทิ้งในถังขยะมีพิษแยกจากขยะทั่วไป โดยกำจัดให้ถูกต้องกับประเภทของผลิตภัณฑ์ และคำแนะนำของผู้ผลิต การเก็บรักษา จัดเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น ห่างจากแหล่งความร้อน โดยจัดวางบนพื้นหรือชั้นวางที่มั่นคง แยกเก็บผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ติดไฟง่าย ทำปฏิกิริยารุนแรงไว้ในที่มิดชิด ห่างจากมือเด็ก ไม่จัดเก็บปะปนกับอาหาร เพราะสารเคมีอาจหกหรือมีไอระเหยปนเปื้อนกับอาหาร ห้ามเก็บถังน้ำมันเชื้อเพลิง หรือถังบรรจุก๊าซไว้ในบ้าน ใกล้แหล่งความร้อนหรือเปลวไฟ เพราะจะติดไฟง่าย ตลอดจนห้ามนำผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีเปลี่ยนถ่ายลงในภาชนะบรรจุอาหาร เพื่อป้องกันเด็กหรือผู้ที่ไม่รู้นำไปรับประทานทำให้เสียชีวิตได้ หากได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ควรปฏิบัติดังนี้ - การล้างพิษ ถ้าสารเคมีหรือน้ำยาต่างๆ ถูกบริเวณผิวหนังควรรีบล้างออกทันที ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก ฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำจำนวนมาก ถ้าสารเคมีกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างออกโดยเปิดน้ำสะอาดไหลผ่านตามากๆ - หากสูดดมสารพิษเข้าไป ให้รีบนำผู้ป่วยออกมาอยู่ในที่โล่งแจ้งบริเวณเหนือลม ห่างจากที่เกิดเหตุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ เมตร เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ - การขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ถ้ารับประทานสารพิษเข้าไป ให้รีบล้วงคอให้อาเจียนทันที จะช่วยลดปริมาณสารพิษที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่ไม่ควรทำในกรณีที่ผู้ป่วยกำลังชัก ผู้ป่วยหมดสติไม่รู้สึกตัว - ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี ควรตั้งสติ ไม่ตระหนกตกใจ ควรรีบทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น พร้อมทั้งพิจารณาว่าสารพิษที่ได้รับเป็นสารอะไร ระยะเวลาที่ได้รับพิษเข้าสู่ร่างกายและเข้าสู่ร่างกายทางใด เพื่อให้แพทย์ทราบโดยละเอียด จะได้เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมี - หากผู้ได้รับสารเคมีหยุดหายใจ ให้ทำการผายปอด และช่วยปั๊มหัวใจในกรณีที่หัวใจหยุดเต้น และรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที ถ้าไม่ทราบชนิดของสารเคมี ให้นำภาชนะสารพิษ เสื้อผ้าที่เปื้อนหรือสิ่งที่อาเจียน ให้แพทย์ตรวจสอบว่าเป็นสารเคมีชนิดใด เพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป จะเห็นได้ว่า สารเคมีเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน แต่หากขาดความระมัดระวังในการใช้ เก็บรักษา และการทำลายที่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ วิธีใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง วิธีปฏิบัติกรณีได้รับอันตรายจากสารเคมี รวมถึงวิธีช่วยเหลือผู้ที่ได้อันตรายรับสารเคมีอย่างถูกต้อง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารเคมี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ