กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--Chrysotile Information Center
กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินไครโซไทล์ ร่วมออกแถลงการณ์ ถึงความจำเป็นที่ต้องใช้ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรม ชี้จุดเด่นด้านคุณสมบัติใยหินไครโซไทล์ที่มีความทนทาน เอื้อต่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้ดีกว่าสารทดแทนชนิดอื่น ด้านกระเบื้องโอฬาร ผู้ประกอบการกระเบื้องมุงหลังคาระบุหากภาครัฐยกเลิกนำเข้าใยหินไครโซไทล์ กระทบผู้บริโภคที่ใช้สินค้ากว่า 2 ล้านราย ทำไทยขาดดุลกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี จากต้นทุนวัตถุดิบของสารทดแทนที่สูงขึ้น ดันราคาสินค้าขยับ 25-30% ขณะที่ผู้ประกอบการผ้าเบรครถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยเผยรถบรรทุกขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ผ้าเบรคที่มีใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบ เหตุมีประสิทธิภาพในการหยุดรถได้ดีกว่า ลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นบนท้องถนน
ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์และกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงถึงความจำเป็นของการใช้ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทย หลังจากสภาที่ปรึกษาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกการนำเข้าใยหินไครโซไทล์ใน 3 เดือน และยกเลิกการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีวัตถุดิบสารทดแทนมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์ภายใน 1 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่สูงขึ้น
นายมานพ เจริญจิตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ไครโซไทล์ กล่าวว่า ปัจจุบันไครโซไทล์ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใน 114 ประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากรกว่า 5,565 ล้านคน และมีเพียง 48 ประเทศที่ห้ามใช้ หรือคิดเป็นจำนวนประชากรเพียง 1,048 ล้านคนเท่านั้น โดยประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนนาดา ยังคงอนุญาตให้ใช้ใยหินไครโซไทล์ในสินค้าบางประเภท โดยอยู่ภายใต้การดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการใช้ใยหินในลักษณะของการพ่นเพื่อป้องกันความหนาวเย็น ซึ่งมีความเข้มข้นของใยหินสูงถึง 80-90% จึงมีความเสี่ยงต่อการฟุ้งกระจายของเส้นใยหินมากกว่าในประเทศไทย ที่ใช้ใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ที่มีสัดส่วนเพียง 8-9% และเมื่อนำมาผสมกับซีเมนต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดเกาะเส้นใยหินไครโซไทล์ จึงทำให้เส้นใยไครโซไทล์ไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ และก่อความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากการสัมผัสฝุ่นใยหินอย่างที่มีการกล่าวอ้างกัน
ขณะที่ผลกระทบในเชิงสุขภาพต่อผู้บริโภคนั้น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิเคราะห์ตัวอย่างอากาศในอาคารที่ใช้วัสดุตกแต่งที่มีใยหินเป็นส่วนประกอบ 136 แห่ง พบว่า ทุกแห่งมีฝุ่นใยหินอยู่ระหว่าง 0.000-0.0059 เส้นใย/ลบ.ซม.ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ U.S.EPA กำหนดไว้ที่ 0.01 เส้นใย/ลบ.ซม.จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายจากผู้ใช้สินค้าที่มีใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบแต่อย่างใด
ด้านนายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด ผู้ประกอบการกระเบื้องมุงหลังคา กล่าวว่า กระเบื้องมุงหลังคาที่มีใยหินไครโซไทล์เป็นวัตถุดิบ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกระเบื้องมุงหลังคาประเภทลอนคู่ ที่ใช้ในประเทศไทยมานานกว่า 70 ปี โดยกลุ่มลูกค้าที่ใช้เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหากภาครัฐดำเนินมาตรการยกเลิกการนำเข้าใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิต และส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมและตลาดผู้ใช้กระเบื้องมุงหลังคากว่า 570,000 ครัวเรือน (ประมาณ 64 ล้านตารางเมตร) คิดเป็นประชากรที่ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2 ล้านคนทั่วประเทศ
เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าสารทดแทนมีราคาสูงกว่าใยหินไครโซไทล์ 2 เท่า ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าจากการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึงปีละ 3,000 ล้านบาท และยังส่งผลต่อราคาจำหน่ายที่ต้องปรับตัวขึ้นทันที่ 25-30% ขณะที่คุณภาพของกระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้วัสดุทดแทน ก็มีคุณภาพที่ด้อยกว่ากระเบื้องมุงหลังคาที่ใช้ใยหินไครโซไทล์ ที่มีความแข็งแรงถึง 433 กิโลกรัมต่อเมตร ขณะที่ กระเบื้องที่ใช้สารทดแทนมีความแข็งแรงเพียง 153 กิโลกรัมเท่านั้น หรือมีคุณภาพที่ด้อยกว่า 3 เท่าตัว นอกจากนี้ การต้านทานการแตกหักของกระเบื้องมุงหลังคาที่มีใยหิน ยังสามารถรับแรงกดทับได้ดีสูงกว่ามาตรฐานองค์การอุตสาหกรรม (มอก.75-2529) ที่กำหนดไว้ 4,250 นิวตันต่อเมตร และสูงกว่ากระเบื้องหลังคาที่ใช้สารทดแทนที่ต้านแรงแตกหักได้เพียง 1,500 นิวตันต่อเมตรเท่านั้น
“หากภาครัฐดำเนินมาตรการแบนการนำเข้าใยหินไครโซไทล์ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้แร่ไครโซไทล์ในการผลิต โดยอุตสาหกรรมกระเบื้องมุงหลังนั้น กระเบื้องที่ใช้ใยหินไครโซไทล์เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่นิยมใช้กันมาก หากยกเลิกการนำเข้าใยหิน จะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่คุณภาพสินค้ากลับด้อยลง” นายอุฬาร กล่าว
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร กล่าวว่า การพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์แล้วหันไปใช้สารทดแทนในการผลิตสินค้า กลับกลายเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการใช้สินค้ามากขึ้น เนื่องจากสารทดแทนที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างสารโพลีไวนิลนั้นหากหลุดเข้าสู่ร่างกาย ก็ยากที่ปอดจะกำจัดได้เอง และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าใยหินไครโซไทล์ ที่ร่างกายสามารถกำจัดได้เอง
ดังนั้น การห้ามนำเข้าใยหินไครโซไทล์จึงต้องรับฟังเสียงจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ อีกทั้งต้องมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ยืนยันชัดเจน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลทางการแพทย์ที่ศึกษาในประเทศไทยที่ระบุได้ว่า แร่ใยหินมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดหรือมะเร็งปอดแม้แต่รายเดียว จึงเป็นคำตอบที่ว่าตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ใช้ใยหินไครโซไทล์ในการผลิตสินค้าในประเทศ ไม่มีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดหรือมะเร็งปอดที่มาจากการสัมผัสฝุ่นใยหิน การห้ามนำเข้าใยหินไครโซไทล์จึงไม่ใช่มาตรการเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการ จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ที่ศึกษาในประเทศไทยระบุชัดเจนว่า ใยหินไครโซไทล์เป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและมะเร็งปอดในประเทศไทยหรือพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวอันมีสาเหตุมาจากใยหิน
นายสุวิทย์ ปัญญาเสวนมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทโปลีเท็กซ์ อินดัสทรี่ จำกัด กล่าวว่า ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าเบรกรายใหญ่ในประเทศไทย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมผ้าเบรคมีการนำเข้าใยหินไครโซไทล์มานานกว่า 30 ปี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีวัตถุดิบหรือสารทดแทนชนิดใดมาทดแทนคุณสมบัติของใยหินไครโซไทล์ได้ ซึ่งหากภาครัฐมีนโยบายที่จะห้ามนำเข้าใยหินไครโซไทล์มาใช้ในอุตสาหกรรม ต้องเสนอวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติที่ดีและราคาถูกเท่ากับวัตถุดิบที่ใช้ใยหินไครโซไทล์ในการผลิต เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการหาสารทดแทนมาใช้แทนใยหินไครโซไทล์เป็นเรื่องยาก เพราะด้วยคุณสมบัติที่สามารถทนความร้อนได้สูง มีความยืดหยุ่นต่อการนำไปใช้ในการผลิต แม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีสารทดแทนที่ทนความร้อนได้ดี แต่ก็ยังมีคุณสมบัติไม่เท่ากับใยหินไครโซไทล์ที่เหมาะต่อการนำไปผลิตเป็นผ้าเบรค อีกทั้งประสิทธิภาพในการใช้งานก็ยังไม่ดีเท่ากับผ้าเบรคที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบอีกด้วย
“รถบรรทุกขนาดใหญ่ ยังมีความจำเป็นต้องใช้ผ้าเบรคที่ทำมาจากใยหินไครโซไทล์ เพราะมีประสิทธิภาพในการหยุดรถได้ดีกว่าผ้าเบรคที่ใช้สารทดแทน ซึ่งลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนลงได้” นายสุวิทย์ กล่าว