ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ... ฟื้นชีวิตใหม่แรงงานไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday February 27, 2007 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สปส.
จากสถิติการประสบอันตราย/เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน แม้ว่าในปัจจุบันจำนวนลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงานจะมีอัตราการประสบอันตรายที่ลดลง ดูจากข้อมูลระหว่างปี 2545-2549 มีลูกจ้างที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานตามลำดับ คือ 190,979 คน ,210,673 คน 215,534 คน 214,235 คน และ 204,257 คน
ลูกจ้างที่ประสบอันตราย /เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนโดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 35,000 บาท หากเจ็บป่วยรุนแรงสามารถเบิกจ่ายเพิ่มได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ นอกจากจะได้รับเงินทดแทนกรณีที่สูญเสียแล้วยังสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ที่ จ.ปทุมธานี และระยอง ส่วนลูกจ้างที่เสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย เป็นรายเดือน ระยะเวลา 8 ปี และผู้จัดการศพรับค่าทำศพ 19,100 บาท (ร้อยเท่าของค่าจ้างรายวันขั้นต่ำสุด)
แต่เงินทดแทนที่ได้รับนั้นเยียวยาได้ระยะหนึ่ง ... การที่ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วนหรือทุพพลภาพ และไม่ได้รับการฟื้นฟูมีผลให้ลูกจ้างเหล่านั้นอาจสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานหรือกลายเป็นคนพิการ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพในการประกอบอาชีพไป ทั้งยังก่อให้เกิดภาระแก่ครอบครัวและสังคมที่จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ รวมถึงรัฐบาลเองจะต้องเพิ่มภาระในการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้อยู่ในสังคมได้
สำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้ดูแลลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน’ ขึ้น เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตราย/เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 รวมทั้งผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพไม่เนื่องจากการทำงานก็มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูร่างกาย ปัจจุบัน สปส.มีศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่เปิดให้บริการแล้วเพียง 2 แห่ง คือภาคกลาง จ.ปทุมธานี และภาคตะวันออก จ.ระยอง สามารถรองรับผู้เข้ารับบริการได้ไม่เกินแห่งละ 200 เตียง/ปี
ผู้เข้ารับการฟื้นฟู ฯ ได้ ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดความรู้ เป็นลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน รวมถึงผู้ประกันตนทุพพลภาพที่ไม่เนื่องจากการทำงาน สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในกิจวัตรประจำวัน สภาพการสูญเสียที่เกิดขึ้นสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานให้ดีขึ้นได้ ไม่เป็นผู้ติดยาเสพติดให้โทษ โรคเรื้อรัง โรคติดต่อที่อันตราย พิการทางสมอง หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ โดยศูนย์ฟื้นฟู ฯ จะให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานแบบครบวงจร คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์และอาชีพ ควบคู่กับการฟื้นฟูด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม การให้บริการปรึกษาแนะนำในการปรับสภาพจิตใจและแนะแนวอาชีพ รวมถึงการให้บริการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการด้วย นอกจากนั้นยังมีการแก้ไขพัฒนาผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยดูภาพรวมของปัญหาของคนว่ามีอะไรบ้างแล้วแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน โดยเจ้าหน้าที่ในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ที่ให้บริการจะทำงานร่วมกันเป็นทีม ในปี 2549 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้ง 2 แห่ง จำนวน 591 คน ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 549 คน ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ 315 คน และจบการฟื้นฟูสมรรถภาพ 310 คน
ลูกจ้างที่ประสบเหตุนั้น ควรจะได้เข้ารับการเยียวยาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ทุกราย แต่จากสถิติมีลูกจ้าง/ผู้ประกันตนประมาณ 5% ที่ได้เข้ารับการฟื้นฟู ที่เหลืออีก 90% ต้องกลับภูมิลำเนาเดิม ไม่ได้เข้ารับการฟื้นฟู ฯ ประกอบกับศูนย์ฟื้นฟูฯ จ.ปทุมธานี และ จ.ระยอง รองรับผู้เข้ารับบริการได้ไม่เกินแห่งละ 200 เตียง/ปี รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาส่งตัวลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ศูนย์ฟื้นฟู ฯ ต้องเป็นลูกจ้างในกองทุนเงินทดแทนผู้ซึ่งได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจริง หรือผู้ประกันตนเป็นผู้ซึ่งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้รักษาแล้วลงความเห็นให้เป็นผู้ประกันตนทุพพลภาพ และสามารถช่วยตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนย้ายตนเอง การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง และต้องดูว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษาทางการแพทย์จากโรงพยาบาลแล้ว อวัยวะที่เหลืออยู่หรือสภาพความพิการที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร สามารถแก้ไขได้หรือไม่
จากปัญหาดังกล่าว สปส.เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งขยายการให้บริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานออกไปให้ครอบคลุมทั่วทุกภาค โดยขยายการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ขึ้นอีก 2 แห่งคือที่ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งอนาคตจะจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่ภาคใต้ที่ จ.สงขลา
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวจากกลุ่มผู้นำแรงงานเสนอให้มีการตรวจสอบกรณีที่ สปส.นำเงินกองทุนประกันสังคมไปสร้างศูนย์ฟื้นฟู ฯ ที่ จ.เชียงใหม่และขอนแก่น แทนที่จะนำเงินไปจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยในการทำงาน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า ‘จุดประสงค์ของการสร้างศูนย์ฟื้นฟู ฯ ทั้ง 2 แห่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2537 เพื่อให้มีศูนย์ฟื้นฟู ฯ ครบทุกภาค ลูกจ้างที่อยู่ในพื้นที่หรือมีภูมิลำเนาจะได้รับบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพอย่างทั่วถึง ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของ สปส. ในการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ทั้งนี้ การก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ จ.เชียงใหม่จะสามารถรองรับลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทางภาคเหนือ ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ ลำพูน ตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ได้อย่างทั่วถึงและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับการฟื้นฟูฯ จากส่วนกลาง’
‘สำหรับศูนย์ฟื้นฟูฯ จ.เชียงใหม่ เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2549 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนตุลาคม 2551 โดยมอบให้กองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเพราะโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ของทหารซึ่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด สำหรับวงเงินในการก่อสร้าง จำนวน 249 ล้านบาท มีงบผูกพัน 3 ปี โดย สปส.ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดำเนินการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูฯ จ.เชียงใหม่ กับกองทัพบกเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2549 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเปิดให้บริการครบวงจรได้ในเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งศูนย์ฟื้นฟูฯ แห่งนี้จะครอบคลุมและให้บริการแก่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนในพื้นที่ภาคเหนือทั้ง 16 จังหวัด’ นายสุรินทร์กล่าว
หลายชีวิตของลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ที่ผ่านเข้ามารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในศูนย์ฟื้นฟูฯ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการแล้วหลายคนสามารถกลับไปทำงานกับนายจ้างเดิม บางคนได้ทำงานกับนายจ้างใหม่ ขณะที่บางคนตั้งใจประกอบอาชีพอิสระ สำหรับรายที่บาดเจ็บรุนแรงก็สามารถกลับมาช่วยเหลือตนเองได้ไม่เป็นภาระ กับใคร
ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน เป็นหลักประกันให้กับผู้ใช้แรงงานว่าจะได้รับความคุ้มครองเมื่อต้องประสบอันตราย ...ให้มีพลังที่จะสู้ชีวิตอีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ