กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท
โรคกระดูกพรุน เป็นโรคที่เกิดจากมวลกระดูกลดจำนวนลง ซึ่งมีผลทำให้กระดูกเกิดการเปราะบางและแตกหักง่าย พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2 : 1 เท่า ส่วนสาเหตุเชื่อว่าในเพศหญิงเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงวันหมดประจำเดือน ซึ่งทำให้มวลกระดูกลดลงเร็วกว่าปกติถึง 3 เท่า ส่วนเพศชายจะพบเมื่ออายุมากกว่า 70 ปี โดยเกิดจากการขาดสารแคลเซียมและวิตามินดี อาการผู้ป่วยโดยส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการปวดหลัง อาจจะปวดกลางหลัง เอว หรือทั้งแผ่นหลัง บางครั้งลามมาที่ซี่โครง 2 ข้าง
นายแพทย์พูนศักดิ์ อาจอำนวยวิภาส ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกและข้อ โรงพยาบาลปิยะเวท ได้กล่าวว่า ในปัจจุบันสามารถรักษาได้โดยการฉีดซีเมนต์ เป็นการรักษาแนวใหม่ ซีเมนต์ตัวนี้เป็นสารเชื่อมกระดูกชนิดพิเศษที่สามารถฉีดเข้าไปในกระดูกและสามารถอยู่ในร่างกายได้ โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ สารตัวนี้เรามีการใช้มานานแล้วในวงการแพทย์เป็นเวลาหลายสิบปี ยกตัวอย่างในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ข้อสะโพกเทียม ก็ใช้สารซีเมนต์นี้เป็นตัวเชื่อมกระดูกกับโลหะที่ใส่เข้าไปในร่างกาย สารตัวนี้ได้รับการพิสูจน์เป็นเวลายาวนานแล้วว่าปลอดภัยกับร่างกายมนุษย์ ปัจจุบันนี้การฉีดซีเมนต์ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะทำที่บริเวณกระดูกสันหลังเป็นส่วนใหญ่ และกระดูกข้อมือบางส่วน
ผู้ป่วยที่เหมาะจะทำการฉีดซีเมนต์ในกระดูกสันหลังได้แก่ ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักยุบทั้งใหม่และเก่า หรือมีอาการปวดหลังเรื้อรังจากกระดูกสันหลังหักยุบ ในกรณีที่กระดูกสันหลังหักยุบใหม่ ๆ เราสามารถที่จะดัดกระดูกสันหลังให้คืนตัวได้และฉีดซีเมนต์เข้าไปในช่องว่างในกระดูกสันหลังเพื่อยึดกระดูกสันหลังไว้ การทำเช่นนี้จะได้ประโยชน์ทั้งลดความเจ็บปวดจากกระดูกสันหลังหักและป้องกันการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง และยังได้ความสูงของกระดูกสันหลังกลับมาทำให้ตัวไม่เตี้ยลง และหลังไม่ค่อม ลดอาการปวดเรื้อรังของหลังเนื่องจากการหักยุบเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในกระดูกสันหลัง ในกรณีที่เป็นกระดูกสันหลังหักยุบที่เป็นมานานแล้วและมีอาการปวดเรื้อรัง วิธีการฉีดซีเมนต์จะช่วยลดการเจ็บปวดลงทำให้อาการปวดเรื้อรังหายไปไม่ต้องกินยาแก้ปวดอีก
ถ้าเปรียบเทียบกับการรักษาแบบเก่าซึ่งให้ยาแก้ปวดและใส่เสื้อเกราะภายนอก ซึ่งยังคงพบว่าผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรัง และไม่สามารถป้องกันการยุบตัวลงของกระดูกสันหลังในอนาคตได้ เราพบว่าวิธีฉีดซีเมนต์ให้ผลดีกว่ามากในแง่ลดการปวดได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการปวดเรื้อรัง ป้องกันกระดูกสันหลังหัก ยุบเพิ่ม ป้องกันหลังค่อม และความสูงลดลง ช่วยให้ผู้ป่วยลุกจากเตียงได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามการรักษาวิธีนี้ยังมีข้อห้าม ในคนที่มีการติดเชื้อโรคบริเวณกระดูกสันหลังหรือผิวหนังที่หลัง คนที่เคยแพ้สารซีเมนต์ คนที่มีกระดูกสันหลังหักมากเกินไป
สำหรับกระดูกหักที่บริเวณข้อมือ ก็สามารถฉีดซีเมนต์ร่วมกับการผ่าตัดยึดเหล็ก เพื่อป้องกันการหักยุบของกระดูกและกระดูกผิดรูปที่ข้อมือได้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีวิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นมา แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ คือการป้องกันก่อนที่จะเป็นโรคกระดูกพรุน โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนย กุ้งแห้ง ปลากรอบ เป็นต้น และออกกำลังกายกลางแดดอ่อนๆ ประมาณ 30 นาทีต่อวันอย่างสม่ำเสมอ หรือหลีกเลี่ยงการดื่ม แอลกอฮอล์และกาแฟก็จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนได้
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-625-6555 โรงพยาบาลปิยะเวท