ก.ไอซีที เตรียมวางแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday January 24, 2011 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ก.ไอซีที นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ” ว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ด้วยการริเริ่มของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และได้รับความร่วมมือจากกระทรวงซึ่งเป็นผู้นำร่องดำเนินนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติร่วมกัน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “การสัมมนาครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรม โดยกระทรวงไอซีที ต้องการความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลักดันแผนยุทธศาสตร์บรอดแบนด์แห่งชาติให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาในการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อทำให้แผนยุทธศาสตร์บรอดแบนด์ฯ ประสบความสำเร็จมี 3 ประเด็น คือ 1.การทำความตกลงเกี่ยวกับแผนโครงสร้างพื้นฐานในการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ ซึ่ง แต่ละกระทรวงจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้บรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามนโยบายที่แต่ละกระทรวงกำหนดและวางเป้าหมายไว้ 2. การแสวงหาโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีในระยะสั้น หรือ โครงการประเภท “quick-win” พร้อมกำหนดงบประมาณและกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และ 3.การตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวง เพื่อร่วมหาแนวทางการดำเนินนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ที่จะเปลี่ยนโฉมการทำงานของรัฐบาลให้สามารถบริการประชาชนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตแก่ประเทศในอนาคต” นางจีราวรรณ กล่าว สำหรับข้อสรุปทั้ง 3 ประเด็นที่ได้จากการสัมมนาฯ กระทรวงไอซีที จะได้ติดตามผลจากแต่ละกระทรวงเพื่อสรุปกรอบระยะเวลาและงบประมาณโครงการ ก่อนรวบรวมและนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป หลังจากนั้นจะมีการจัดลำดับความสำคัญและจัดตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) บริการด้านสุขอนามัยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Health) บริการด้านการศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Education) และบริการด้านการเกษตรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Agriculture) “หากโครงการบรอดแบนด์แห่งชาติสำเร็จลุล่วง ประชาชนทั่วทั้งประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างมากมาย ซึ่งสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด ก็คือ โอกาสในการได้รับการบริการจากภาครัฐที่สะดวก รวดเร็ว และเชื่อมโยง ผ่านระบบ e-Government นอกจากนี้ประชาชนยังจะมีโอกาสที่เท่าเทียมกันทั่วประเทศในการเข้าถึงการศึกษาทั้งในรูปแบบการศึกษาทางไกล และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากห้องเรียนทั่วโลกผ่าน e-Education ส่วนประชาชนในชนบทก็จะลดความจำเป็นในการเดินทางระยะไกลเพื่อรับบริการทางสาธารณสุขและการพบแพทย์ โดยสามารถรับการรักษาผ่านบริการในรูปแบบ e-Health ได้ รวมทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับราคาพืชผลการเกษตรต่างๆ เป็นต้น” นางจีราวรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ