แนะรัฐเร่งสร้างศรัทธาในชุมชนชายแดนใต้ ก่อนเกิดวิกฤตแบ่งแยกทางสังคม

ข่าวทั่วไป Monday March 12, 2007 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สวรส.
ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดบทความและงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่http://library.hsri.or.th/?fn=hs1330
แจงสถิติเกือบ 3 ปี เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งหมด 5,460 ครั้ง ผู้คนเสียชีวิต 1,730 ราย บาดเจ็บ 2,513 ราย กว่า 50 คนเป็นอาสาสมัคร บุคลากรสาธารณสุข สร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนเกิดความเครียด หวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานรัฐ เผยเป็นช่องโหว่ให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนสร้างสถานการณ์วางระเบิดก่อกวน แนะทางออกให้เน้นสร้างศรัทธาของเจ้าหน้าที่กับคนในชุมชน รับฟังเสียงสะท้อนแนวทางแก้ไขจากคนในพื้นที่ แทนการวางกรอบนโยบายจากส่วนกลาง
ภาวะวิกฤตความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ รวมถึงสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ ประชาชนหวาดกลัว และระมัดระวังตนเองในการใช้ชีวิต ประเพณี พิธีกรรมบางอย่างถูกงดเว้นไป เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น ขาดความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ จากรายงานวิจัยเรื่องวิกฤตของระบบสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) โดย ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เปิดเผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ พบว่า จากเดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนสิงหาคม 2549 มีจำนวนความถี่ของการก่อเหตุความรุนแรงรวมทั้งสิ้น 5,460 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 1,730 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2,513 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรสาธารณสุข 22 คน และอาสาสมัครสาธารณสุข 31 คน
โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ เวลาการทำงาน เครื่องแบบในการทำงาน ลดบริการเชิงรุกโดยเฉพาะงานสร้างเสริมสุขภาพและงานป้องกันโรค ทำให้เกิดปัญหาระยะยาวคือ มีการซ่อมสุขภาพมากกว่าการสร้างสุขภาพ นอกจากนี้ยังเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยและการสำรองอาหาร โดยบางพื้นที่มี อสม. มาปฏิบัติงานบนสถานีอนามัยคู่กับเจ้าหน้าที่อนามัย เพื่อความปลอดภัยและความอุ่นใจ มีการดูแลขวัญกำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้บุคลากรยังคงปฏิบัติงานต่อไปได้คือศรัทธาจากชุมชนและคนในพื้นที่ โรงพยาบาลบางพื้นที่เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์บางสาขา จำนวนพยาบาลวิชาชีพกำลังจะเป็นปัญหามากขึ้นหากเหตุการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าขณะนี้จำนวนผู้ใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในไม่ได้ลดลง แต่ความรุนแรงของอาการผู้ป่วยในมีมากขึ้น คือ เมื่อมีอาการหนักมากๆ จึงจะมาโรงพยาบาล เป็นเหตุให้ใช้ระยะเวลาในการรักษามากขึ้น ขณะเดียวกันสถานีอนามัยมีจำนวนผู้ใช้บริการน้อยลง แต่แนวโน้มที่คาดการณ์ไว้คือในอนาคตคนเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้จะมีมากขึ้น
ผศ.พงค์เทพ กล่าวต่อว่า จากภาวะความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเกิดการลอบทำร้ายกัน การบาดเจ็บ การตาย ความเครียด และความหวาดกลัวแล้ว ขณะนี้สถานการณ์กำลังนำไปสู่ภาวะการขาดความเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ ประชาชนขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบทั้งภายในและนอกประเทศในอีกหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การแบ่งแยกทางสังคมในที่สุด
“ท่ามกลางความสับสน หวาดระแวง ที่นำไปสู่ความไม่ไว้วางใจต่อทหาร ตำรวจชุมชน และที่สำคัญคือเกิดความไม่ไว้วางใจในเพื่อนร่วมงาน ไม่กล้าพูดคุยกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในชุมชน และยิ่งไม่มีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนกัน ยิ่งสร้างความอึดอัดมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งเป็นการกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข และสุขภาพของชุมชนจนยากจะเยียวยา ความเร่งด่วนของการสร้างและการฟื้นฟูสุขภาวะทั้งด้านกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณในวิถีของคนใต้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคีทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา”
มาตรการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ รัฐต้องเร่งสร้างสันติภาพ เป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนสันติภาพให้เกิดขึ้นในชุมชนให้ได้ การแก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิต การสร้างระบบสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษา การส่งต่อ จัดบุคลากรเสริม และการรักษาบุคลากรให้คงอยู่ ส่วนมาตรการระยะยาวคือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการจัดบริการสุขภาพ สร้างระบบการดูแลตนเองของชุมชน สร้างหลักสูตรการแพทย์ในวิถีมุสลิมและมีการจัดการด้านบุคลากรให้มีประสิทธิภาพที่ดี
อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายในกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวค่อนข้างมาก แต่การให้ความสำคัญอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ คงต้องหาทางแก้ไขปัญหาด้วย และวิธีการแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่มักจะคิดในมุมมองของส่วนกลางหรือมองภาพใหญ่ จึงอยากให้ลองเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่มากขึ้นหรือรับฟังข้อเสนอของคนในพื้นที่มากขึ้น โดยต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของคนในพื้นที่ในการนำเสนอข้อมูล เพราะคนในพื้นที่จะรู้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ การให้นโยบายโดยกรอบแนวคิดจากส่วนกลางบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับการทำงานในพื้นที่ ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าคนในพื้นที่มีข้อมูล รู้ปัญหา มีวิธีแก้ปัญหา จึงอยากให้เข้าใจ และไว้วางใจในวิธีการและแนวทางของคนในพื้นที่ว่าอาจจะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้เบาบางลงได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร.02-2701350-4 ต่อ 105 Email:prhsri@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ