กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--จีเอเบิล
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ควงพันธมิตรเอกชน บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด จัดโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ‘Network Security Contest 2007’ ระดับอุดมศึกษา สอดคล้องกับการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเหมาะเจาะ ทั้งยังหวังเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านเน็ตเวิร์คและซีเคียวริตี้อย่างจริง จัง ประกาศเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง 15 ตุลาคม 2550
ผศ.วิชาญ เลิศวิภาตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา(Uninet) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ทั้งนี้ผู้กระทำผิดจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย ในพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วนทั้งในฐานะผู้ใช้ และผู้ให้บริการ โดยเนื้อหาสาระของพ.ร.บ. จะช่วยปกป้องผู้ที่เสียหายจากการกระทำของผู้ที่ไม่ประสงค์ดี เช่น การแอบขโมยข้อมูล การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น แต่มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันไม่ให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าว ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่รู้ หรือเกิดจากไวรัสที่ไปกระทำโดยที่เจ้าของไม่ทราบ เป็นต้น
ดังนั้นเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย (Security) จึงเพิ่มความสำคัญขึ้นอย่างมาก เพราะจะเป็นการป้องกันหน่วยงานของตนเอง และติดตามการทำงานของสมาชิกในหน่วยงานไม่ให้ไปกระทำผิดกฎหมายได้
หน่วยงานการศึกษาตามกฎหมายฉบับนี้ เป็นทั้งผู้ใช้ และผู้ให้บริการ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา โดยสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ได้ร่วมกับบริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (TCS) จัดโครงการ Network Security Contest 2007 ซึ่งเป็นการแข่งขันด้านระบบความปลอดภัย (Security) อันจะเป็นเวทีให้ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ได้แสดงความสามารถในการออกแบบระบบเพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมย์ของพระราชบัญญตินี้
นายไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (TCS) เปิดเผยว่า จากการจัดโครงการประกวดในปีที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากสถาบันการศึกษา และนิสิต นักศึกษา ในการส่งทีมเข้าประกวด และยังมีผู้ที่สนใจสอบถามเข้ามาอีกมากมาย ดังนั้นในปีนี้คณะกรรมการจัดงานจึงได้เปิดโอกาสให้กว้าง ขึ้น เพียงแค่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาของทุกมหาวิทยาลัย และมีความสนใจทางด้านไอที ก็สามารถหาเพื่อนอีกหนึ่งคน ควงคู่กันมาสมัครได้เลย ไม่จำเป็นต้องเรียนอยู่ในภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยได้เริ่มเปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึง 15 ตุลาคม 2550
“ เงื่อนไขของการประกวดปีนี้ จะดีขึ้นใน 2 ประเด็น คือ 1. รูปแบบของทีมขนาดเล็กลง จะเรียนอยู่คณะใดภาควิชาใด เกี่ยวก้อยกันมาได้เลย ไม่จำเป็นต้องเรียนด้านไอที จากในปี 2006 ที่ต้องมีจำนวนสมาชิกในทีม 4 คน มีอาจารย์ประจำทีม 1 คน และส่งเข้าประกวดได้ไม่เกินคณะละ 1 ทีม และต้องเรียนอยู่ในคณะที่เกี่ยวกับไอทีด้วย 2. โจทย์ซับซ้อนขึ้นยากขึ้น เนื่องจากเราต้องการให้บุคลากรได้มีการพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น ”
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ผลของการแข่งขันทำให้เราได้มองเห็นถึงศักยภาพของเด็กไทยที่มีอยู่พอสมควร เพียง แต่ความรู้เกี่ยวกับเน็ตเวิร์ค และซีเคียวริตี้อาจจะเป็นหน่วยเล็กๆ ภายในสถาบันที่มีการจัดสอน หรือมีเพียงไม่กี่หลักสูตรในการเรียนการสอน การประกวดครั้งนี้เพื่อกระตุ้นและจุดประกายให้หน่วยงานการศึกษาต่างๆ พัฒนาความสามารถของนิสิต นักศึกษา เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านเน็ตเวิร์ค และซีเคียวริตี้ให้มากขึ้น เพราะความต้องการของตลาดตอนนี้สูงมาก
นายเกรียงศักดิ์ กิจกาญจนไพบูลย์ Security Consulting Department Manager บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด กล่าวถึงรูปแบบโครงการว่า นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี ของมหาวิทยาลัยทุกสถาบัน สามารถส่งทีมเข้ามาสมัครได้โดยไม่จำกัดคณะ หรือภาควิชา โดยแต่ละทีมจะต้องมีจำนวนสมาชิกทีมละ 2 คน กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 กรกฎาคม — 15 ตุลาคม 2550 โดยสามารถส่งเอกสารประกอบการสมัครมาได้ที่ แผนกการตลาด บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด หรือ Email addresss: TCSMKT@g-able.com
สำหรับคณะกรรมการประกอบไปด้วยนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจาก TCS โดยจะมีการคัดเลือกรอบแรกในวันที่ 29 ตุลาคม 2550 ซึ่งจะคัดเลือกจากทีมผู้สมัครทั้งหมดเหลือ 10 ทีม (หรือมากกว่า) เพื่อนำไปแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550 ด้วยโจทย์ที่คณะกรรมการตั้งให้โดยจะเป็นโจทย์ข้อเดียวกัน และแข่งขันพร้อมกัน ซึ่งแต่ละทีมต้องหาจุดโหว่ วิธีแก้ไข และหาวิธีป้องกันระบบให้ได้
สำหรับรางวัลประกอบไปด้วย รางวัลที่ 1 เงินสด 50,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินสด 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินสด 30,000 บาท และรางวัลชมเชย 5,000 บาท จำนวน 3 รางวัล โดยจะประกาศทีมชนะเลิศและรางวัลต่างๆ ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550
“ TCS ไม่ได้มีหน้าที่ผลักดันโดยตรง แต่เราเปรียบเหมือนคนจุดชนวนให้เกิดการพัฒนาทางด้านเน็ตเวิร์คโดยตรง เราเหมือนคนที่เข้าไปจุดประกายให้เกิดความต้องการที่จะเรียน เนื่องจากกลไกของเน็ตเวิร์คและซีเคียวริตี้ในทุกวันนี้ซับซ้อนขึ้น การเรียนการสอนต้องพัฒนาตามไปด้วย เพื่อที่จะผลิตบุคลากรได้มาตรฐานตามปริมาณที่ท้องตลาดต้องการ และจากโครงการนี้เราคาดหวังที่จะได้เห็นเด็กไทยเก่งขึ้น โดยเราจะพยายามพัฒนาให้ดีขึ้นในปีต่อๆ ไป“ นายไพบูลย์กล่าวเสริมในตอนท้าย
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ :
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล
คุณชุติมา สีดา
คุณจรีย์วิบูล บุญชนะโกศล
คุณนุสรินทร์ เพ็ชร์หลำ
โทร. 0-2678-0200 ต่อ 2996-9
e-mail : g-able.pr@g-able.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net