กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ความเหลื่อมล้ำของการศึกษากับค่าจ้างแรงงานที่ห่างกันมากขึ้นในช่วงกว่าสองทศวรรษ สะท้อนความล้มเหลวของคุณภาพการศึกษา ทีดีอาร์ไอวิจัยพบ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษานำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้จากค่าจ้างที่ได้รับในอนาคต การศึกษาของเด็กในครอบครัวยากจนยังติดแค่มัธยม รัฐควรเพิ่มโอกาสการเข้าถึงอุดมศึกษาให้แก่ผู้เสียเปรียบโดยการยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมกันมากขึ้น
ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาของแรงงานไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเศรษฐกิจและสังคมไทยมาโดยตลอดในช่วงปี 2529 ถึง 2552 หากมองความมั่นคงของชีวิตในอนาคต โดยดูจากอาชีพและรายได้เป็นหลัก พ่อแม่คงเลือกให้ลูกได้เรียนจบในระดับปริญญา ซึ่งจะทำให้มีโอกาสทางรายได้มากกว่าผู้จบในระดับมัธยมปลาย ปวช.,ปวส. เพราะระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับค่าจ้างหรือรายได้ที่จะได้ในอนาคต
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ ได้ทำการศึกษาความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับแนวโน้มของค่าจ้างในประเทศไทย เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของการศึกษาเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และรายได้ของครัวเรือนเชื่อมโยงกับการศึกษา จึงทำการศึกษาโดยดูเรื่อง การเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการศึกษาในระดับต่าง ๆ กับแนวโน้มของค่าจ้างของกลุ่มการศึกษาต่าง ๆ และดูการเปลี่ยนแปลงของความไม่เท่าเทียมกันในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2529-2552)
ผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมรัฐบาลสามารถขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั่วประเทศมากขึ้น ทำให้คนไทยมีการศึกษาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5 ปีในปี 2529 เป็น 8 ปีในปี 2552 และในตลาดแรงงานก็พบว่ามีแรงงานกลุ่มจบประถมและมัธยมต้นน้อยลง และมีแรงงานที่จบ ม.6 และระดับปริญญาเพิ่มขึ้น
แต่เมื่อดูว่ากลุ่มคนแบบไหนได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น และกลุ่มคนแบบไหนที่ยังมีการศึกษาระดับต่ำอยู่ โดยดูความเชื่อมโยงเรื่องการศึกษาและรายได้ของพ่อแม่ พบว่า ในครอบครัวที่พ่อแม่การศึกษาสูง เด็กมีแนวโน้มที่จะได้รับการศึกษาขั้นสูงไปด้วย และเมื่อดูรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนโดยพิจารณาจาก รายได้แท้จริงเฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือนของผู้จบระดับ ม.6 (รายได้ 3,600 บาทต่อเดือน) เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของครัวเรือนของผู้จบในระดับมหาวิทยาลัย (7,000 บาทต่อเดือน) พบว่ามีความแตกต่างกันเกือบสองเท่า และที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำนี้แทบจะไม่ได้ลดลงเลย รัฐบาลประสบความสำเร็จในการให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึง แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือเรื่องคุณภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะตราบใดที่ยังมีความแตกต่างด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อยกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรมาก ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงจะยังคงมีมากต่อไป
ผลการศึกษาชี้ชัดว่าระดับการศึกษาของคนจนไปติดอยู่ที่มัธยมไม่สามารถก้าวสู่อุดมศึกษาได้ สาเหตุหลักมาจากเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว คุณภาพโรงเรียนและคุณภาพการศึกษาที่แตกต่างกัน อีกทั้งจำนวนปีการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น(ปัจจุบันมีเรียนฟรี 15 ปี) ก็เทียบไม่ได้กับปีการศึกษาที่มีคุณภาพดี อย่างไรก็ตามการแก้ไขนั้นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะต้องดูว่ามีทรัพยากรเพียงพอที่จะไปยกระดับโรงเรียนทั่วประเทศให้มีคุณภาพทัดเทียมกันได้หรือเปล่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะยาวต่อไป
จะเห็นว่าเรื่องโอกาสทางการศึกษาสัมพันธ์กับค่าจ้าง คนที่มาจากครอบครัวที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม จะทำให้เขาเสียเปรียบด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษา อาจจะเป็นทั้งคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงอุดมศึกษาด้วย และส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงเมื่อเข้ามาสู่ตลาดแรงงานก็มีความเหลื่อมล้ำของรายได้หรือค่าจ้าง ที่ผ่านมารายได้ระหว่างกลุ่มอุดมศึกษากับกลุ่มมัธยมห่างกันขึ้นเรื่อย ๆ ค่าจ้างของผู้จบอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นประมาณ 150% แต่ค่าจ้างของผู้จบการศึกษาระดับมัธยมเพิ่มขึ้นเพียงครึ่งหนึ่งของกลุ่มระดับอุดมศึกษา
ดร.ดิลกะ กล่าวว่า หากจะลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับค่าจ้างแรงงานให้มีความสมดุลมากขึ้น ควรเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่แค่การกระจายให้ทั่วประเทศแต่ต้องคำถึงคุณภาพที่เท่าเทียมกันด้วย และผลิตคนที่ จบ ปวช.,ปวส. ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน และสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้วควรมีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น และต้องเป็นการทำต่อเนื่อง จึงจะเกิดผลช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษาและค่าจ้างได้ในระยะยาว
นอกจากนี้ควรมีการทบทวนนโยบายการอุดหนุนการศึกษารายหัวในระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันเป็นการอุดหนุนค่าเล่าเรียนแบบถ้วนหน้า โดยรัฐอุดหนุนผ่านสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 70% ผู้เรียนจ่ายเองเพียงประมาณ 30% เท่านั้น แต่เนื่องจากคนที่ได้เข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีความได้เปรียบทางสังคมอยู่แล้ว อีกทั้งคนเหล่านี้ยังคงได้เปรียบต่อเนื่องในรูปของค่าจ้างที่สูงกว่าเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน ดังนั้นการปรับค่าเล่าเรียนให้สะท้อนต้นทุนการผลิตบัณฑิตที่แท้จริงมากขึ้นนั้นจึงมีความจำเป็น และจะต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อให้คนที่มีความสามารถแต่ยากจนไม่ถูกกีดกันจากการเข้าถึงอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ
นักวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าการปฏิรูปค่าเล่าเรียนจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับและไม่ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐควรทำคือการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพดีในทุกพื้นที่ของประเทศ.