ไทยเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตวัคซีน หวังลดการนำเข้าวัคซีนและสามารถส่งออกขายในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 25, 2011 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--อิมเมจ อิมแพค เนื่องในโอกาสที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้ดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของเอกชนแห่งเดียวในประเทศไทยฉลองครบรอบ 10 ปี จึงได้ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดงานสัมมนา เรื่อง “การพัฒนาขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย” หวังช่วยกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลิตวัคซีนชนิดใหม่ๆ เพื่อลดปริมาณการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศและมีราคาย่อมเยามากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศและประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เพื่อรองรับการปรับตัวเข้าสู่การร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น “เนื่องจากไบโอเนท-เอเชียมีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจด้านวัคซีน และมีพันธะสัญญาที่จะผลิตวัคซีนและจำหน่ายในราคาย่อมเยาสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย และส่งออกขายไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นเราจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะหาทางในการเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีน เพื่อลดช่องว่างระหว่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา” นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าว ในปีพ.ศ. 2552 ไบโอเนท-เอเชีย ได้เปิดตัวศูนย์วิจัย-พัฒนาและโรงงานวัคซีนต้นแบบซึ่งเป็นของเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาทสำหรับโครงการในเฟสแรกและได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยงานออกแบบและก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีสำหรับการผลิต (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) ขององค์การอนามัยโลก โดยอาคารของศูนย์วิจัย-พัฒนานั้นมีพื้นที่มากถึง 2,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ 17 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เริ่มทำการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแบบไร้เซลล์ชนิดใหม่ โดยการใช้กล้าเชื้อที่ได้มาจากงานวิจัยร่วมกันระหว่างไบโอเนท-เอเชียและมหาวิทยาลัยมหิดล “การร่วมมือในครั้งนี้นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างกล้าเชื้อโรคไอกรนซึ่งให้ผลลัพธ์ที่สูงมากในการทำลายเชื้อโรคไอกรน สิ่งนี้จะทำให้สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในราคาที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อ และจะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถเข้าถึงวัคซีนนวัตกรรมใหม่ในราคาที่ไม่สูงมากนักก่อนหน้าประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม” นายวิฑูรย์ กล่าวเสริม บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคไอกรนแบบไร้เซลล์ชนิดใหม่ที่ได้รับการทดสอบแล้วในประเทศแถบยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ ญี่ปุ่น และเกาหลีว่าสามารถป้องกันโรคไอกรนได้จริง นอกจากนี้ ไบโอเนท-เอเชียจะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลขยายการวิจัยเพื่อผลิต protein carrier รวมทั้งเปิดดำเนินการ ห้องปฎิบัติการควบคุมคุณภาพ และห้องปฎิบัติการไวรัสวิทยาประมานเดือนเมษายนนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น “แม้ว่าประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองมานาน 80 ปี แต่การผลิตวัคซีนยังคงใช้เทคโนโลยีดั้งเดิม จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี บุคคลากร และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถขยายกำลังการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล กอปรกับเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิด “สถาบันวัคซีนแห่งชาติ” อย่างเป็นทางการ เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนให้เกิดขึ้นภายในประเทศ ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไอกรน (ชนิดทั้งเซลล์และชนิดไร้เซลล์) โรคตับอักเสบบี และโรคไข้สมองอักเสบเจอี เป็นต้น ในช่วงนี้จึงถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุนเพื่อการพัฒนาและผลิตวัคซีนอย่างจริงจัง เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และจำนวนประชากรในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 67 ล้านคนซึ่งมากเกินกว่าที่จะซื้อวัคซีนจากต่างประเทศมาใช้ ผนวกกับการร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขยายฐานการตลาดสู่ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย กล่าว ดร.รัชนี วัฒนวิศิษฏพร นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพยายามที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่มีขอบข่ายธุรกิจครอบคลุมการวิจัยขั้นพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และการพัฒนาเชิงปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น “แม้ว่าจะเป็นกิจการในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง แต่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนบริษัทที่สนใจลงทุน โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร การลดหย่อนภาษีของบริษัท และการได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาตามที่กำหนด เป็นต้น” ดร.รัชนี กล่าวทิ้งท้าย ปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าวัคซีนร้อยละ 90 เป็นจำนวนเงินสูงถึง 4,000 ล้านบาทต่อปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด คุณสินีนาฏ ยิ้มม่วง โทร. 0-2361-8110 ต่อ 203 อีเมล์ info@bionet-asia.com หรือ บริษัท อิมเมจ อิมแพค จำกัด คุณชุตินันท์ คุณะดิลก โทร. 0-2357-1180-2 ต่อ 108 อีเมล์ chutinun@imageimpact.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ