เสียงหนุนการทำงานรัฐบาลเริ่มดิ่ง เหตุราคาสินค้าแพง

ข่าวทั่วไป Tuesday January 25, 2011 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันนี้ (25 ม.ค.54) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลของชาวอีสาน”จากกลุ่มตัวอย่าง 700 ราย พบเสียงสนับสนุนการทำงานรัฐบาลลดลง สาเหตุจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น คนอีสานส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ทราบความคิดเห็นของชาวอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการปรับมาตรการในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ในปี 2553 ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจเสียงสนับสนุนรัฐบาลอย่างต่อเนื่องรวม 7 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 โดยทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 700 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด 19 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ สำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มกราคม 2554 ผลสำรวจมีดังนี้ ด้านการทำงานในภาพรวม พบว่ากลุ่มตัวอย่างคนอีสานให้การสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 58 และไม่สนับสนุนร้อยละ 42 ในขณะที่ ด้านการเมือง มีเสียงสนับสนุนร้อยละ 40 และไม่สนับสนุน ร้อยละ 60 ส่วนด้านเศรษฐกิจ เสียงสนับสนุนร้อยละ 56 และไม่สนับสนุนร้อยละ 44 สุดท้ายคือ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนร้อยละ 65 และไม่สนับสนุน ร้อยละ 35 ทั้งนี้ เมื่อเทียบเสียงสนับสนุนกับช่วงปลายเดือนธันวาคม ปี 2553 พบว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาลลดลงเล็กน้อย มีเพียงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น โดยด้านการทำงานภาพรวม พบว่า เสียงสนับสนุนเดิมได้ร้อยละ 67 แต่ครั้งนี้ลดลงเหลือร้อยละ 58 ส่วนด้านการเมือง เสียงสนับสนุนลดลงจากร้อยละ 41 เป็นร้อยละ 40 ในด้านเศรษฐกิจ เสียงสนับสนุนลดลงจากเดิมร้อยละ 57 เป็นร้อยละ 56 สำหรับด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 65 ในครั้งนี้ “เสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ลดลงโดยเฉพาะด้านภาพรวมการทำงานนั้น หากพิจารณาจากความคิดเห็นเพิ่มเติมของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่ไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะมองว่าตอนนี้ราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างยังต้องการให้รัฐบาลดูแลเรื่องสวัสดิการทางสังคม และกระจายรายได้สู่ภาคอีสานให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” อาจารย์ประเสริฐกล่าวในตอนท้าย สำหรับผลการสำรวจข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 50 เพศชาย ร้อยละ 50 โดยมีอายุเฉลี่ย 20-29 ปี มากที่สุด ร้อยละ 28 รองลงมาคือ 40- 49 ปี ร้อยละ 20 อายุ 50-59 ปี ร้อยละ 19 อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 18 อายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 8 และอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 7 การศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่ได้เรียนหนังสือ/ประถมศึกษา มากที่สุด ร้อยละ 35 รองลงมาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 28 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 13 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 11 ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 11 และระดับปริญญาโท ร้อยละ 2 ด้านอาชีพ กลุ่มตัวอย่างอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว มากที่สุด ร้อยละ 25 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 20 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 14 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 14 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 13 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11 และอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 3 ในส่วนของรายได้ กลุ่มตัวอย่างมีรายได้ 5,001-10,000 บาท มากที่สุด ร้อยละ 39รองลงมามีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 27 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ18 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 7 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ และมากกว่า 40,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 3 รายชื่อคณะผู้วิจัย รองศาสตราจารย์มันทนา สามารถ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ผศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ผศ.ดร.ก่อพงษ์ พลโยราช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ศุทธชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร อ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล นายวินัย บุญเพ็ง นายทวีศักดิ์ จันทร์หอม นายณัฏฐ์ ธันยภรสกล นางสาวปัทมวรรณ มณีศรี นายภัทธาวุฒิ พิทักษ์ นางสาวณฐมน บัวพรมมี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ