แผนรับมือและแนวทางการปฎิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Tuesday January 23, 2007 12:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ปภ.
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ขนาด 5.1 ริคเตอร์ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในบริเวณที่เกิดขึ้น สร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวทั้งสิ้น 61 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการลดความตื่นตระหนกของประชาชน และเตรียมพร้อมของหน่วยปฏิบัติ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะสำนักเลขาธิการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ 61 จังหวัดและกรุงเทพฯ รับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 การเตรียมความพร้อม
ให้ตรวจสอบแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและปรับข้อมูลพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหวให้เป็นปัจจุบัน เตรียมความพร้อมของทีมกู้ภัยจังหวัด เครือข่ายอาสาสมัคร และ อปพร. พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว ติดตามข้อมูลข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากกรมป้องกันฯ ตลอดเวลา
ช่วงที่ 2 ในขณะเกิดภัย ให้รายงานเหตุการณ์ให้กรมป้องกันฯ ทราบทันที จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการ สั่งการ แก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
ช่วงที่ 3 หลังเกิดภัย ให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อทำหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น หากเกิดความเสียหายเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้ดำเนินการ
ขออนุมัติขยายวงเงินในการให้ความช่วยเหลือ ส่วนกรุงเทพมหานคร ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจและประเมินความเสียหายโดยมีผู้เทนกรมโยธาธิการและผังเมือง อาจารย์จากสถาบันการศึกษา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการฯ และให้เร่งดำเนินการรื้อถอนซากปรักหักพัง และซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภค และอาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชนให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
ส่วนข้อปฏิบัติตนสำหรับประชาชนทั่วไป ควรเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว เพื่อป้องกันอันตรายจากแผ่นดินไหว ดังนี้
1. ช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหวผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเจ้าของบ้าน ควรตรวจสอบสภาพความปลอดภัยของบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้าน และทำการยึดอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น ตู้และชั้นหนังสือ ยึดติดกับฝาบ้านหรือเสาให้มั่นคง พร้อมทำการซักซ้อมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัว โดยกำหนดวิธีปฏิบัติตนในยามเกิดแผ่นดินไหว และกำหนดจุด /นัดพบที่......
นัดพบที่ปลอดภัยนอกบ้านไว้ล่วงหน้าเพื่อจะได้มีที่ปลอดภัยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น และควรสอนสมาชิกในครอบครัวให้รู้จักวิธีตัดไฟ ปิดวาล์วน้ำและถังแก๊ส และแนะนำสมาชิกในครอบครัวให้เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สมาชิกในครอบครัว ควรจัดเตรียมไฟฉาย ถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ใช้ในบ้าน และแจ้งให้ทุกคนทราบว่าเก็บไว้ในจุดใด ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น โดยสมาชิกทุกคนในบ้านควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซสะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า ไม่ควรวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูงๆ เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวอุปกรณ์เหล่านั้นอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้ จึงควร
ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน ควรมีการวางแผนกำหนดจุดนัดพบ สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไป
ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
ช่วงที่ 2 ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ให้ตั้งสติอย่าตื่นตระหนกตกใจ ถ้าอยู่ในอาคาร ควรอยู่ในจุดที่มีมีโครงสร้างแข็งแรงที่สุด หรือหาที่หลบกำบังให้พ้นจากสิ่งหล่นทับ และอยู่ห่างจากประตูระเบียง และหน้าต่าง งดใช้ลิฟท์ ห้ามใช้เทียนหรือไม้ขีดไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ถ้าอยู่นอกอาคาร ควรอยู่ห่างจากอาคารสูง เสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ใหญ่ และไม่ขับรถในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว หากอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและได้รับประกาศแจ้งเตือน
ให้รีบอพยพขึ้นที่สูงและอยู่ห่างจากชายฝั่งให้มากที่สุดเพราะอาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้
ช่วงที่ 3 เมื่อแผ่นดินไหวสงบแล้ว ควรตรวจสอบตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ หากได้รับบาดเจ็บให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน รีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอาคารอาจพังทลายได้ ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือเศษวัสดุแหลมคมอื่นๆ ตรวจสอบสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส
ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว และรีบออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง เพราะอาจเกิดไฟฟ้าดูด ควรเปิดวิทยุเพื่อรับฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริงๆ สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้ อย่าเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง
หรืออาคารพัง เพราะอาจได้รับอันตรายได้ และอย่าหลงเชื่อข่าวลือ ต้องฟังคำประกาศแจ้งเตือนจากภาครัฐเท่านั้นแม้เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่า จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อใด การเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งนอกจากหน่วยงานภาครัฐจะเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ประชาชนก็ควรมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมรับมือ ด้วยการศึกษาถึงวิธีการป้องกันภัยจากแผ่นดินไหวเพื่อเตรียมการรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพราะหากประชาชนมีการเตรียมพร้อมที่ดีแล้ว จะช่วยลดการสูญเสียได้มาก และที่สำคัญควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ