กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กฟผ.
กฟผ. เผยความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นอีกครั้ง 22,071.4 เมกะวัตต์ สาเหตุจากอากาศร้อนจัด วอนประชาชนร่วมประหยัดไฟอย่างจริงจัง พร้อมหนุนใช้หลอดประหยัดไฟแทนหลอดไส้ เปิดแอร์ 25-26 องศาเซลเซียส และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดไฟเบอร์ 5
วันนี้ (29 มี.ค.) นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการบริหาร ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคม 2550 เวลา 14.00 น. ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ได้พุ่งสูงถึง 22,071.4 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ของเดือนมีนาคมถึง 400 เมกะวัตต์แล้ว (ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่คาดการณ์ไว้อยู่ที่ประมาณ 21,600 เมกะวัตต์)
สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในวันที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดดังกล่าว แยกตามภาคต่างๆ ได้แก่ เขตนครหลวง 8,445.7 เมกะวัตต์ ภาคกลาง 7,837.7 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,123.8 เมกะวัตต์ ภาคใต้ 1,637.5 เมกะวัตต์ และภาคเหนือ 2,026.7 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม โฆษก กฟผ. กล่าวยืนยันว่า กฟผ. มีกำลังผลิตสำรองเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนปีนี้ และได้มีการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายในช่วงหน้าร้อนอย่างเต็มที่ จึงมั่นใจได้ว่าจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอแน่นอน
นายอภิชาต กล่าวตอนท้ายว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก กฟผ. ขอเชิญชวนประชาชนให้เห็นความสำคัญของประหยัดไฟฟ้าอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายๆ ด้วยตนเอง เช่น เปลี่ยนไปใช้หลอดประหยัดไฟแทนการใช้หลอดไส้ ปรับตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่ 25 -26 องศาเซลเซียส เพราะการตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 400 เมกะวัตต์ รวมถึงการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มาตรฐานฉลากประหยัดไฟ เบอร์ 5 อาทิ เครื่องปรับอากาศ หม้อหุงข้าว พัดลม ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านค่าไฟฟ้าภายในครอบครัว และยังช่วยให้ประเทศประหยัดได้อีกด้วย