การเบิกค่ารักษาพยาบาลตามระบบ DRG ไม่เสียสิทธิแต่อย่างใด

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2007 08:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางชี้แจงว่า การนำระบบ Diagnosis Related Groups หรือ DRG มาใช้ในการเบิก ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และบุคคลในครอบครัวผู้มีสิทธิ นั้น ไม่กระทบต่อสิทธิในการได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาล นายมนัส แจ่มเวหา รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง โฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้มีการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล โดยนำระบบเบิกจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม มาใช้ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายเงิน จากเดิมที่ให้สถานพยาบาลของทางราชการ วางฎีกาเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและผู้มีสิทธิที่เป็นผู้ป่วยในได้เต็มจำนวน เป็น ให้เบิกจ่าย ค่าห้องค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์ ในการบำบัดรักษาโรคและอวัยวะเทียมเต็มจำนวน ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด และค่ายา ค่าตรวจ ค่าวิเคราะห์โรค ค่าบริการทางการแพทย์ ให้เบิกได้ ในอัตรา 80% ของค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ที่เหลืออีก 20% จะต้องมีการวิเคราะห์และคำนวณร่วมกับ
กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม แล้วจัดสรรเงินจ่ายคืนให้สถานพยาบาล โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า ในการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา โดยจ้างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โดย สกส. ดำเนินการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายโดยใช้ระบบจัดทำฎีกาด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งต้องส่งข้อมูลการรักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการให้ สกส. เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลปรับเข้ากลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) และกรมบัญชีกลางจะจ่ายค่ารักษาตามหน่วยนำหนักสัมพัทธ์ (RW) ที่กำหนดไว้แล้ว คูณด้วยอัตราฐาน (Base Rate) ซึ่งได้มาจากค่าใช้จ่ายที่แต่ละสถานพยาบาลส่งมาเบิก โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 — 2549 ซึ่งเป็นระบบที่มีความเป็นธรรมต่อสถานพยาบาล ไม่ริดรอนสิทธิอันพึงได้ของผู้มีสิทธิ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้วิทยาการที่ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง และการยอมรับของสถานพยาบาล
โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนระบบเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยในดังกล่าว เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงวิธีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลระหว่างกรมบัญชีกลางกับสถานพยาบาลเท่านั้น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างเหมาะสมและรัฐสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ทำให้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการลดลงแต่อย่างใด โดยที่สิทธิของข้าราชการนั้นยังมีเช่นเดิม เช่น ผู้มีสิทธิยังสามารถเบิกยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้เช่นเดิม ซึ่งการใช้ระบบดังกล่าวจะทำให้โรงพยาบาลใช้ทรัพยากรในการรักษาอย่างคุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ