กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--กทม.
สภากทม. พิจารณางบประมาณปี 51 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เป็นงบสมดุล ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ เผยเตรียมเดินหน้าต่อนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ขณะของบอุดหนุนนโยบาย 5 ด้านจากรัฐบาล 1.5 หมื่นล้าน
เวลา 10.00 น. ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 1 ประชุมสามัญสมัยที่ 3 (ครั้งที่ 3) ได้พิจารณา ข้อญัตติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 โดยมีนายธวัชชัย ปิยนนทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารร่วมประชุมชี้แจง
ทั้งนี้นายอภิรักษ์ ได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยระบุว่ากรุงเทพมหานครได้ประมาณการรายรับที่สามารถจัดเก็บเป็นรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 ไว้ 45,000 ล้านบาท ซึ่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 กำหนดว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ห้ามมิให้ตั้งรายจ่ายประจำสูงกว่ารายได้ประจำ ดังนั้นเพื่อให้กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการตามภารกิจและแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2548-2551 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2551 เป็นงบประมาณแบบสมดุล โดยกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายเท่ากับประมาณการรายรับ
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า จากการพัฒนากรุงเทพมหานครในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548-2550) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ใช้งบเพื่อการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในปีงบประมาณ 2551 คณะผู้บริหารมุ่งมั่นที่จะพัฒนากรุงเทพมหานครตามแนวพระราชดำริอย่างจริงจังต่อไป โดยงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2551 ได้แบ่งเป็นงบกลาง 3,727 ล้านบาท คิดเป็น 8.28% งบพัฒนากรุงเทพมหานคร 17,559 ล้านบาท คิดเป็น 39.02% งบดำเนินการ 23,714 ล้านบาท คิดเป็น 52%
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เสนอขอรับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลอีกจำนวน 15,064,900,000 บาท เพื่อสนับสนุนนโยบายหลักทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ 642.2 ล้านบาท คิดเป็น 1.13% ด้านมหานครแห่งการเรียนรู้ 1,278.70 ล้านบาท คิดเป็น 8.44% ด้านสร้างความสะดวกปลอดภัย 10,506.3 ล้านบาท คิดเป็น 55.79% ด้านส่งเสริมสุขภาพชีวิต คนกรุงเทพฯ 704 ล้านบาท คิดเป็น 8.59% และด้านสิ่งแวดล้อม 1,933.7 ล้านบาท คิดเป็น 26.05% ทั้งนี้เพื่อมุ่งให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครได้รับความสะดวก ปลอดภัยในการดำรงชีวิต ประชาชนอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง และ มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ ซึ่งการประเมินผลสำเร็จของการดำเนินงานตามงบประมาณดังกล่าว กรุงเทพมหานครยังคงใช้แนวคิดของความสุขมวลรวมของประชาชนควบคู่กับผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของคนกรุงเทพมหานครตลอดไป
ทั้งนี้ทางสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานคร กันอย่างกว้างขวาง โดยจะมีการอภิปรายต่อไปอีกก่อนที่จะมีการรับหลักการร่างฯ และตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียดร่างฯ ดังกล่าวต่อไป