นักวิชาการ มธ.หนุนโครงการ BEAT 2010 กระตุ้น-ปลูกฝังคนไทยอนุรักษ์พลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 27, 2011 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ มธ.หนุนโครงการ BEAT 2010 กระตุ้น-ปลูกฝังคนไทยอนุรักษ์พลังงาน ระบุการใช้พลังงานในอาคาร เป็นตัวการสำคัญในการดึงพลังงานไฟฟ้าไปใช้มากที่สุด หากไม่ช่วยกันยิ่งเพิ่มอุณหภูมิโลกให้ร้อนมากขึ้น ดร.จตุวัฒน์ วโรดมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์พลังงานภายในอาคาร LEED AP คนแรกของเมืองไทย เปิดเผยในงาน BEAT2010@Campus ณ อาคารหอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตว่า การแก้ปัญหาด้านพลังงานถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสนใจและร่วมมือกัน โดยเชื่อว่าโครงการสร้างขุมกำลังบุคลากรด้านการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (Building Energy Award of Thailand 2010 : BEAT2010) ด้วยการจัดประกวดอาคารต้นแบบการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมในโครงการ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นนักศึกษาและประชาชนทั่วไปหันมาให้ความสนใจเรื่องการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการใช้พลังงานภายในอาคาร ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญอันดับหนึ่งของการใช้พลังงานมากที่สุด เมื่อเทียบสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยการใช้พลังงานในอาคารคิดเป็น 45% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ดังนั้น หากทุกคนร่วมมือกันและช่วยกันประหยัดพลังงาน ลดการใช้พลังงานในอาคารรวมถึงบ้านเรือนต่างๆ นอกจากจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าแล้วยังช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกด้วย เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตส่วนใหญ่ผลิตมาจากถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนต่ำ แต่กลับเป็นตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดเช่นกัน โดยขบวนการผลิตไฟฟ้า 1 กิโลวัตต์ จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศ 1 ตัน และเมื่อเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าภายในประเทศไทยใน 1 ชั่วโมง มีการผลิตจำนวน 20,000 กิโลวัตต์ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศมากถึง 20,000 ตัน ดร.จตุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาการใช้พลังงานในอาคารส่วนใหญ่ สิ่งที่ทุกอาคารควรให้ความสนใจ คือ การใช้พลังงานของระบบปรับอากาศ เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงถึง 50-70% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในอาคาร รองลงมาได้แก่ หลอดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งการปรับวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศให้เหมาะสมจะเป็นวิธีการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรับอากาศคู่กับพัดลม เพื่อช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศ และยังสามารถปรับเพิ่มอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศได้สูงขึ้นโดยที่ความเย็นเท่าเดิม แต่กินไฟน้อยลง หันมาใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับอุณหภูมิภายในห้อง รวมไปถึงการหมั่นตรวจสอบและล้างเครื่องปรับอากาศภายในอาคารและบ้านเรือนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เครื่องปรับอากาศมีสภาพดีอยู่เสมอ ส่วนวิธีการประหยัดพลังงานภายในอาคารที่อาจจะต้องให้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ได้แก่ การเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่สภาพเก่าแล้วอายุการใช้งานเกิน 5 ปี การเปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดผอมหรือหลอดธรรมดามาใช้เป็นหลอด LED ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยการประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารได้มากยิ่งขึ้น การติดตั้งเครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหว เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในส่วนที่ไม่จำเป็นลง น่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม กลไกสำคัญที่จะทำให้การรณรงค์เรื่องการประหยัดพลังงานประสบความสำเร็จ คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายองค์เข้ามาช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับการดำเนินงานในโครงการ BEAT 2010 ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรภาคเอกชน เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-564-4440 สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ