กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร แถลงข่าว “มิติใหม่เครดิตบูโร และแผนงานปี 2554” โดย นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “ในปี 2554 นี้ เครดิตบูโรจะให้ความสำคัญใน 3 ประเด็นหลักที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ดังนี้
1. การสื่อสารและให้ข้อมูลกับสาธารณtและประชาชนทั่วไปในเรื่อง ‘วินัยทางการเงิน’ ภายใต้แนวคิด ‘เครดิตดีไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง’
2. การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเครดิต หรือ ‘การตรวจเครดิตบูโร’ สำหรับประชาชนทั่วไปให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3. การพัฒนาเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก เช่น Credit Scoring หรือ ‘คะแนนเครดิต’ เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อมีความแม่นยำมากขึ้น สอดคล้องกับแผนแม่บททางการเงิน ฉบับที่ 2
ในด้านผลการดำเนินงานในปี 2553 ที่ผ่านมาของเครดิตบูโร มีการเติบโตขึ้นเป็นที่น่าพอใจ โดยมีตัวเลขที่สำคัญ ดังนี้
- ฐานข้อมูล มีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 20 ล้านราย คิดเป็นจำนวนบัญชีสินเชื่อทั้งสิ้น 62 ล้านบัญชี
- สถาบันการเงินเข้ามาเช็คข้อมูลเครดิตของลูกค้าใหม่และลูกค้าเดิม เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 16 ล้านรายการ คิดเป็นเฉลี่ย 1.3 ล้านรายการต่อเดือน
- ประชาชน บริษัท และ SME ที่เป็นเจ้าของข้อมูลให้ความสนใจมาตรวจเครดิตบูโรของตนเองเป็นจำนวน กว่า 253,000 รายการในปี 2553 คิดเป็นเฉลี่ย 22,000 รายการต่อเดือน
- มีช่องทางการให้บริการเพิ่มขึ้นโดยเจ้าของข้อมูลสามารถมายื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรของตนเองได้ ผ่านหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็น เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารนครหลวงไทย ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ภายใน 7 วันรับรายงานทางไปรษณีย์ หรือจะมาที่ศูนย์บริการตรวจเครดิตบูโร ของเครดิตบูโรเอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ชั้น 2 อาคาร 2” รอรับรายงานได้เลยภายใน 15 นาที
ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “เป้าหมายทั้ง 3 ด้านที่กำหนดไว้นั้น เครดิตบูโรจะมีการเดินสายให้ข้อมูลทั่วประเทศ ในจำนวนไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการเคยเป็นผู้ที่มีปัญหาภาระหนี้สิน และได้กลับมาเป็นคนที่มีวินัยทางการเงิน การรณรงค์ดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2554เป็นต้นไป
สำหรับช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเครดิตนั้น ในวันวาเลนไทน์นี้ ทางเครดิตบูโรจะเปิดศูนย์ให้บริการตรวจเครดิตบูโรที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง ภายใต้แนวคิด “รถไฟฟ้า...มาหาบูโร” และจะร่วมมือกับสถาบันการเงินเช่น CITI Advance เปิดจุดให้บริการในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในศูนย์การค้า The Mall งามวงศ์วาน บางกะปิ และบางแค ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป สำหรับการสนับสนุนโครงการของรัฐบาล เครดิตบูโรร่วมกับ SME Bank จะให้บริการตรวจเครดิตบูโรที่สำนักงานใหญ่ของ SME Bank ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นี้”ในส่วนของการเพิ่มเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงกับสถาบันการเงิน นายสุรพล กล่าวต่อว่า “การพัฒนา Credit Scoring หรือ “คะแนนเครดิต”ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 จนถึงกุมภาพันธ์นี้ เป็นช่วงเวลาที่สมาชิกเครดิตบูโรทำการทดสอบเครื่องมือดังกล่าวว่าจะสามารถนำมาใช้กับกระบวนการตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อของตนเองให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้อย่างไร กระบวนการนี้เรียกว่า Validation ในด้านของเครดิตบูโรเองก็คงต้องชี้แจงและผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงต่อไป และคาดว่าตามเป้าหมายของบริษัทจะสามารถให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2554 เป็นต้นไป”
ท้ายสุดทิศทางของเครดิตบูโรทั่วโลก นายสุรพลได้ให้ข้อมูลว่ามีอยู่ 4 เรื่องที่เป็นกระแสในเวลานี้คือ
ทิศทางหลัก 4 ด้านในอนาคตจากมุมมองของการดำเนินธุรกิจเครดิตบูโร จากการประชุมของเครดิตบูโรทั่วโลก - 2010
- การคุ้มครองและรักษาสิทธิของผู้บริโภค - Consumer protection การให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเป็นความลับ เปิดเผยเท่าที่จำเป็น
- การให้เงินกู้อย่างรับผิดชอบ - Responsible lending การให้กู้ยืมต้องรอบคอบรัดกุม มีเหตุผล มีการบริหารความเสี่ยง การคัดกรอง ลูกค้าต้องพิจารณาศักยภาพของการจ่ายคืน ไม่ควรกระตุ้นให้กู้โดยไม่จำเป็น
- การให้เงินกู้กับกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน - Micro Finance เป็นเงินกู้ขนาดเล็กๆ ไม่มากตามศักยภาพ มีวิธีการวิเคราะห์ในแนวทางใหม่ๆ ที่ทันสมัยและควบคุมคุณภาพได้ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับแผนแม่บทฉบับที่ 2
- การเก็บข้อมูล Non financial data เช่น ค่าน้ำ ไฟฟ้า สาธารณูปโภค เป็นต้น