มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีผนึกไอบีเอ็ม จัดตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี” แห่งแรกในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Thursday January 27, 2011 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยนำหลักสูตร IBM Academic Initiative เพื่อเสริมสร้างความรู้ และพัฒนาความสามารถในทักษะทางด้านเทคโนโลยี รวมทั้ง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน และเอาชนะความท้าทาย เพื่อช่วยให้โลก ‘ฉลาดขึ้น’ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิด “ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยี” หรือ Center of Excellence ศูนย์ผลิตผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับประกาศนียบัตรอย่างเป็นทางการจากไอบีเอ็ม พร้อมเสริมสร้างทักษะของบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม พร้อมปฏิวัติการเรียนการสอนอย่างล้ำสมัย โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ มุ่งผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านไอที เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทย ในปัจจุบัน ปัญหาท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศประการหนึ่ง คือ ขาดแคลนผู้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถทางด้านไอที จำนวนบุคลากรที่สถาบันการศึกษาผลิตออกมาในแต่ละปียังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเมนเฟรม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีมากว่า 45 ปี และใช้งานกันอย่างแพร่หลายในองค์กรธุรกิจ แต่ก็ยังมีจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในด้านดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อช่วยเอาชนะความท้าทายในด้านดังกล่าว ศูนย์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันการศึกษาด้านไอทีอย่าง มจธ. ในการผลิตบัณฑิตและมหาบัณฑิตที่มีทักษะสูงและพร้อมทำงานอย่างมืออาชีพต่อไป โดย มจธ. จะเป็นผู้จัดหาสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ส่วนไอบีเอ็มจะรับหน้าที่จัดหาซอฟต์แวร์ชั้นนำ สื่อการเรียนการสอน การฝึกอบรม การพัฒนาหลักสูตร และการจัดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรจากไอบีเอ็มเมื่อนักศึกษาจบหลักสูตรฯ อีกทั้ง นักศึกษายังได้มีโอกาสฝึกทักษะความรู้ในเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้านของไอบีเอ็ม เช่น เมนเฟรมหรือซิสเต็ม ซี (System z) ดีบีทู (DB2) เว็บสเฟียร์ (WebSphere) โลตัส (Lotus) ทิโวลี (Tivoli) และเทคโนโลยีใหม่ เช่น คลาว์คอมพิวติ้ง การวิเคราะข้อมูลเชิงธุรกิจ วิทยาศาสตร์บริการ การจัดการและวิศวกรรม ทักษะเหล่านี้จะช่วยให้นักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างให้โลกชาญฉลาดขึ้น เนื่องด้วยสามารถนำความรู้ความสามารถไปใช้งานได้อย่างเชี่ยวชาญเมื่อสำเร็จการศึกษาทันที โดยส่วนใหญ่ของงานจำเป็นต้องมีความเข้าใจทั้งภาคธุรกิจและเทคโนโลยี นอกจากนั้น กระบวนการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยยังจะช่วยให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง ได้รับความคุ้นเคยกับการสร้างนวัตกรรม และสามารถพัฒนาเป็นแรงงานที่มีขีดความสามารถแข่งขันทั้งในประเทศและในตลาดโลกได้ เป็นอย่างดี ผศ.ดร.นิพนธ์ เจริญกิจการ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า “มจธ. เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมีแผนพัฒนาศักยภาพทุกด้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและการวิจัย เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก ในส่วนของคณะเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญหลักและเป็นสาขาหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย ขณะนี้ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวด้านไอทีของนักศึกษาให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ไอบีเอ็มเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ร่วมทำงานกับทางคณะฯ มาอย่างยาวนาน โดยได้นำทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านไอทีระดับโลกมาถ่ายทอดให้กับคณาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง” “เราเล็งเห็นว่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรในทุกหน่วยงาน แต่กลับมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอทีรอบด้านจำนวนน้อย ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสังคม รวมถึงเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านไอทีของคณะ จึงได้จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีขึ้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรอบรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ มีทักษะการวิเคราะห์ วางแผนและการบริหารจัดการด้านไอทีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรด้านพลังงานของประเทศ การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีในครั้งนี้เป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสององค์กรที่จะมุ่งสร้างมืออาชีพด้านไอทีผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เน้นความร่วมมือกันการปฏิบัติจริง” นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีความยินดีที่ได้สานต่อความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่าง มจธ. ในโครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ นอกจากนี้ เราจะเดินหน้าในความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งอื่น ๆ อีกเพื่อขยายขอบข่ายการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัดเช่นนี้ไปในวงกว้างขึ้น นับเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างและส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องพัฒนานวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป” ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารและผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวเสริม “ปัจจุบันมีบัณฑิตที่จบด้านไอทีและสาขาที่เกี่ยวข้องกว่ามากกว่า 50,000 คนต่อปี แต่น่าเสียดายที่มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีความรู้และทักษะระดับมืออาชีพ ซึ่งประเทศไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างมาก ดังนั้น การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ. ให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสนองตามความต้องการของตลาด สามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่า เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม องค์กรของรัฐและเอกชน ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติต่อไป” ในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน หนึ่งในเทคโนโลยีจากไอบีเอ็มที่ มจธ. นำมาใช้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยขณะนี้ คือ เซิร์ฟเวอร์ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี (IBM System z) หรือเมนเฟรมที่มาพร้อมกับคุณสมบัติที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ “โลกฉลาด” (Smarter Planet) ของไอบีเอ็มได้อย่างครบครัน โดยผสานรวมความยืดหยุ่นของระบบประมวลผลขั้นสูงเข้ากับเสถียรภาพและความสามารถในการปรับขนาดของระบบเมนเฟรมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังมีความโดดเด่นในแง่ความเสถียรในการประมวลผล เอื้อต่อการลดค่าใช้จ่ายและการประหยัดพลังงานต่อการใช้งานในองค์กรชั้นนำ ทั้งนี้ นับถึงปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ได้นำเมนเฟรมหรือ ไอบีเอ็ม ซิสเต็ม ซี ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนด้านไอทีแล้วกว่า 500 แห่ง โดยมีนักศึกษากว่า 50,000 คนที่ได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการไอบีเอ็ม อคาเดมิค อินิทิเอทีฟ เข้าไปที่ www.ibm.com/academicinitiative สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จินรี ตัณมณี โทรศัพท์: 02-273-4676 อีเมล: chinnare@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ