ผลประกอบธนาคารกรุงไทยงวดครึ่งปีแรก

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2007 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--ธนาคารกรุงไทย
บมจ. ธนาคารกรุงไทย ขอนำส่งงบการเงินเฉพาะกิจการก่อนการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีธนาคารสำหรับงวดสามเดือนและหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550 พร้อมประกาศผลประกอบการและคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร ดังนี้
คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร
รายงานฉบับนี้เป็นคำอธิบายการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในงบการเงินเฉพาะธนาคารที่ยังไม่ได้ตรวจสอบและ ยังไม่ได้สอบทานประจำไตรมาส สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550
ภาพรวมผลประกอบการ
ธนาคารมีกำไรก่อนสำรองหนี้สูญในไตรมาส 2/2550 เท่ากับ 7,428 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,920 ล้านบาท (ร้อยละ 34.86) จากไตรมาส 1/2550 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย มีจำนวน เท่ากับ 3,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 784 ล้านบาท (ร้อยละ 31.70) จากไตรมาส 1/2550
รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิ
ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่ากับ 10,233 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 380 ล้านบาท (ร้อยละ 3.86) จากไตรมาส 1/2550 และมีเงินปันผลรับ เท่ากับ 478 ล้านบาท ลดลง 435 ล้านบาท (ร้อยละ 47.65) จากไตรมาส 1/2550 เนื่องจาก ธนาคารมีเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ 1 จำนวน 882 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2550
อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM)
อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย ในไตรมาส 2/2550 เท่ากับร้อยละ 3.27 เท่ากับ ไตรมาส 1/2550
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2/2550 เพิ่มขึ้น 784 ล้านบาท (ร้อยละ 31.70) จาก ไตรมาส 1/2550 การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้จากการลงทุน ที่เพิ่มขึ้น
ค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ย
ธนาคารมีค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยในไตรมาส 2/2550 ลดลง 1,190 ล้านบาท (ร้อยละ 15.39) จากไตรมาส 1/2550 เนื่องจากธนาคารบันทึกค่าใช้จ่ายเงินตอบแทนพิเศษจำนวนประมาณ 1,300 ล้านบาทในไตรมาส 1/2550
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio)
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ในไตรมาส 2/2550 เท่ากับร้อยละ 48.03 ลดลงจากร้อยละ 58.63 ในไตรมาส 1/2550
ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 ธนาคาร ตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ธนาคารตั้งเป็นปกติ อีกเป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ในปี 2550 ธนาคารคาดว่าจะมีการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญทั้งปี มีจำนวนรวมที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
การตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าว เป็นการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์การดำเนินการด้วยความระมัดระวัง (Prudent Banking Practice) เพื่อให้ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพียงพอตามเกณฑ์ IAS 39 สำหรับรองรับหนี้ NPL ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งหนี้ปกติบางส่วน ที่มีผลประกอบการที่ค่อนข้างอ่อนแอ นอกจากนี้ การตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดการด้านภาษีของธนาคารด้วย
ส่วนในปีหน้า ธนาคารคาดว่าการตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารจะอยู่ในระดับปกติ (Normalized Level)
กำไรสุทธิ
ธนาคารมีกำไรสุทธิเท่ากับ 528 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2550 ลดลง 3,880 ล้านบาท (ร้อยละ 88.02) จากไตรมาส 1/2550
สถานะทางการเงิน
เงินให้สินเชื่อรวม
ณ 30 มิถุนายน 2550 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อรวม (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับและเงินให้สินเชื่อระหว่างธนาคารและตลาดเงิน) เท่ากับ 922.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7 พันล้านบาท (ร้อยละ 2.07) จากไตรมาส 1/2550
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL)
ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2550 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพจำนวน 101.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น จำนวน 7.0 พันล้านบาท จากไตรมาส 1/2550 ทำให้สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.17 จากไตรมาส 1/2550 ซึ่งธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ เท่ากับร้อยละ 9.82 ทั้งนี้สินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น มีสาเหตุหลักจากสินเชื่อที่ให้แก่ลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง
จากสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ธนาคารคาดการณ์ว่าอาจจะมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ และลูกหนี้ที่ธนาคารจัดชั้นเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้นได้อีก ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และสินเชื่อที่ให้ก่อน ปี 2548
อย่างไรก็ตามจากการประเมินคุณภาพสินเชื่อ ตามข้อมูลที่ธนาคารมีอยู่ในปัจจุบัน ธนาคารเชื่อว่าการ ตั้งค่าใช้จ่ายหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์การดำเนินการด้วยความระมัดระวังดังกล่าวข้างต้น จะเพียงพอสำหรับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมของธนาคาร
เงินฝาก
ธนาคารมีเงินฝาก ณ 30 มิถุนายน 2550 เท่ากับ 1,031.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.3 พันล้านบาท (ร้อยละ 4.07) จาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2550 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเงินฝากทุกประเภท
เงินกองทุน
ณ 30 มิถุนายน 2550 ธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 91.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.49 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 4.25 ที่ธปท.กำหนด ส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 122.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 14.00 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าร้อยละ 8.50 ที่ธปท. กำหนดเช่นกัน ธนาคารเชื่อว่า เงินกองทุนในระดับนี้ ทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถขยายธุรกิจได้ตามแผน
ธนาคารขอเรียนชี้แจงเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากนโยบายบัญชีการบันทึกเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ดังนี้
ธนาคารมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบันทึกบัญชีของเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ในงบการเงินเฉพาะกิจการจากวิธีส่วนได้เสียเป็นวิธีราคาทุนในไตรมาสที่ 2/2550 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550 เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 โดยธนาคารได้ปรับปรุงย้อนหลังงบการเงินที่แสดงเปรียบเทียบด้วย ทั้งนี้ เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่แสดงอยู่ในงบการเงินเฉพาะกิจการนั้นบันทึกโดยใช้ราคาทุนเดิม (Historical Cost) เป็นราคาทุนเริ่มต้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว มีผลกระทบทำให้เงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมและส่วนของผู้ถือหุ้น ที่แสดงไว้ในงบดุลลดลง 1,490.75 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนโยบายบัญชีดังกล่าวส่งผลต่อการแสดงรายการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมในงบการเงินเฉพาะกิจการเท่านั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการจัดทำ งบการเงินรวมและปัจจัยพื้นฐานการทำธุรกิจของธนาคารแต่อย่างใด
ฝ่ายการบัญชี โทร. 0-2208-4726 - 30

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ