กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
ดัชนีอุตฯ ธ.ค.-2.48% เหตุ Hard disk drive ชะลอการผลิต หลังทำยอดเข้าเป้า กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง-เสื้อผ้าสำเร็จรูป ต้นทุนพุ่งจึงผลิตน้อย ขณะที่ การผลิตรถยนต์-แอร์-ปูนซีเมนต์ ยอดผลิตและจำหน่ายยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงถึง 63.39%
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนธันวาคม 2553 ลดลงเล็กน้อย -2.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต 63.39% อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เดือน ธ.ค.ลดลงเมื่อเทียบกับเดีอนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การผลิต Hard disk drive การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ขณะที่อุตสาหกรรมหลัก เช่น การผลิตรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ (แอร์) ปูนซีเม็นต์ ยังมีอัตราการขยายตัวได้ดี
การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและการจำหน่ายลดลง 18.5%และ 13.4% ตามลำดับ เนื่องจากเมื่อปีก่อนมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความคุ้มค้าและราคาแข่งขันได้ จึงได้รับคำสั่งซื้อจำนวนมาก ขณะที่ปีนี้ผู้ผลิตไม่ได้มีการเร่งกำลังการผลิตแต่อย่างไร เนื่องจากสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ตามเป้าหมาย โดยแนวโน้มในปี 2554 ยังมีอัตรากการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเติบโตตามความต้องการอุปกรร์จัดเก็บข้อมูลสำหรับมัลติมีเดียความคมชัดสูงที่มีผู้ใช้มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Hard disk drive ขยายตัวได้เป็นอย่างดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออก
การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายลดลง 11.4% และ 12.1% ตามลำดับ เนื่องจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม และดินถล่มทำให้สวนยางพาราเกิดความเสียหาย จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายลดลง ดังกล่าว
เสื้อผ้าสำเร็จรูป เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่าย ลดลง 4.4% และ 0.2% ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะฝ้ายที่ราคาสูงขึ้นประมาณ 30% รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 10% จึงส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่าย ดังกล่าว
ขณะที่ การผลิตรถยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้น 16.5% และ 17.8%ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของโลกและของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับตลาดภายในประเทศได้รับผลดีจากค่ายรถยนต์ต่างมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ออกมาเสนอเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะรถยนต์ภายใต้โครงการอีโคคาร์ ที่ออกมากระตุ้นตลาดทำให้ตลาดรถยนต์คึกคักเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้การจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 1800 cc.เพิ่มสูงขึ้นถึง 33.6%สำหรับตลาดในประเทศ และส่งออก
เพิ่มขึ้น 7.6% นอกจากนี้ ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรปรับตัวสูงขึ้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยส่งผลต่อยอดการจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะในรถกะบะขนาด 1 ตัน
การผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 63.8%และ48.9% ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตรทำให้ทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ จึงได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา และยุโรปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลายโครงการ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น
การผลิตปูนซีเมนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 9.6%และ8.2% เนื่องจากภาวะการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในต่างจังหวัดมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับ ซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆหลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
นางสุทธินีย์ สรุปภาพรวมภาพรวม MPI เดือนธันวาคม 2553 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดังนี้
ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 190.24 ลดลง 2.48% จากระดับ 195.07 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 195.96 เพิ่มขึ้น 1.96% จากระดับ 192.19 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง 181.90 เพิ่มขึ้น 5.48% จากระดับ 172.44 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 123.28 เพิ่มขึ้น 4.21% จากระดับ 118.29 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 142.56 เพิ่มขึ้น 1.56% จากระดับ 140.36 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.39%
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index 2552 2553
ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
ดัชนีผลผลิต 195.07 179.65 183.23 212.45 179.95 185.02 194.19 190.12 183.71 201.47 191.21 190.43 190.24
อุตสาหกรรม
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 8.0 -7.9 2.0 15.6 -15.6 2.8 5.07 -2.05 -3.14 9.65 -4.91 -0.45 -0.10
อัตราการ 30.7 29.1 31.1 32.6 23.0 15.9 14.34 13.16 8.67 8.13 6.24 5.61 -2.48
เปลี่ยนแปลง (YOY) %
อัตราการใช้ 61.8 60.4 60.6 67.9 57.9 64.0 65.66 62.40 64.03 64.36 64.11 63.63 63.39
กำลังการผลิต %
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม