กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยหลังการแถลงข่าวแผนการดำเนินงานปี 2554 ว่า “ประเด็นที่มีการกล่าวกันมากและมีข้อกังวลในเรื่องที่ว่าเครดิตบูโรมีแผนจะทำการจัดเก็บข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคข้างหน้านั้น เรื่องนี้เพื่อให้เข้าใจตรงกันเครดิตบูโรขอเรียนความเข้าใจในแต่ละประเด็นดังนี้
ข้อมูลที่เครดิตบูโรจัดเก็บ ได้แก่ ข้อมูลประวัติการชำระสินเชื่อ โดยข้อมูลสินเชื่อเมื่อเกิดขึ้นหรือเปิดบัญชีแล้วสถาบันการเงินก็จะส่งเข้ามาที่เครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่ส่งข้อมูลเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ที่เรียกกันว่าติดบูโรเข้ามา ข้อมูลจะเป็นประวัติเริ่มตั้งแต่เปิดบัญชี มีการชำระเงินอย่างไร จ่ายครบ จ่ายตรงก็บอกว่าไม่ค้างชำระ ถ้าค้างก็บอกว่าค้าง จะจัดเก็บตามความจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อข้อมูลความคลาดเคลื่อน เจ้าของข้อมูลก็มีสิทธิในการทักท้วงและตรวจสอบได้ หน้าที่เครดิตบูโรคือเป็นผู้ให้บริการข้อมูลแก่สถาบันการเงินเพื่อใช้ประกอบการอนุมัติสินเชื่อเมื่อมีการยื่นขอสินเชื่อ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ป้องกันการเกิด NPL ในระบบ ไม่ให้เกิดวิกฤตดังเช่นปี 2540 ที่ผ่านมา
แนวโน้มในการใช้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน (Non Financial data) มาประกอบกับข้อมูลที่จัดเก็บอยู่เดิมของเครดิตบูโรในหลายประเทศมีหลายประเภทมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในข้อมูลที่สะท้อนวินัยทางการเงินของบุคคลก็คือการชำระค่าสาธารณูปโภค หากการจ่ายชำระเงินในส่วนนี้ตรงตามเวลาในจำนวนที่ครบถ้วนก็จะสะท้อนความรับผิดชอบของบุคคลคนนั้นได้อย่างชัดเจนขึ้น
ผลจากธนาคารโลกได้ทำรายงานเปรียบเทียบการทำธุรกิจที่ยากหรือง่ายในแต่ละประเทศ ที่เราเรียกว่า Doing Business Report นั้น ปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการประเมินร่วมกันกับอีกหลายๆ ปัจจัย คือเรื่องดัชนีความลึกของข้อมูลเครดิตที่จัดเก็บในเครดิตบูโร กรณีนี้ประเทศไทยได้คะแนน 5 จากคะแนนเต็ม 6 ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านคือมาเลเซียที่ได้คะแนน 6 เต็ม เมื่อมีการศึกษาก็พบว่าสิ่งที่เรายังขาดไปคือการเก็บข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั่นเอง หากเราต้องการยกระดับให้เท่ากับมาตรฐานสากลก็ต้องนำมาพิจารณาซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเหมาะกับประเทศไทยหรือไม่อย่างไร
ความเป็นไปได้ในการจัดเก็บข้อมูลสาธารณูปโภคในประเทศไทยจะดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ยังต้องมีกระบวนการและข้อพิจารณาอยู่มากพอควร เริ่มจากการศึกษาวิจัยว่า ค่าสาธารณูปโภคในปัจจุบันมีการชำระกันอย่างไร พฤติกรรมการค้างชำระเป็นอย่างไร กระบวนการและระบบการจัดเก็บ การกำหนดคำนิยามต่างๆ หรือข้อจำกัดของกฎหมายต้องแก้ไขตรงไหน อย่างไรก่อน เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกฎหมายที่กำกับดูแลเครดิตบูโรนอกจากจะให้เครดิตบูโรเป็นเครื่องมือในการป้องกัน NPL แล้วยังต้องคำนึงถึงมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะเจ้าของข้อมูลอีกด้วยจึงจะมีความสมดุลกัน โดยในขณะนี้ เครดิตบูโรมีโครงการศึกษาและระดมความเห็นในเบื้องต้น
ผู้จัดการใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การเก็บประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั้น หากจะมองให้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปในแง่ของประชาชนรายย่อยที่ไม่เคยมีสเตทเม้นท์ (Statement) หรือ ยังไม่เคยมีประวัติการชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดๆ เมื่อไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินก็จะไม่มีข้อมูลอะไรให้เห็นเลยอาจทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติ ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคตัวนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ตนเองและสะท้อนวินัยทางการเงินให้สถาบันการเงินได้เห็น และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยได้เข้าถึงระบบสถาบันการเงินด้วยการใช้ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคที่จะสามารถสะท้อนวินัยในการชำระเงิน เพราะตอนนี้เราก็ทราบว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบได้เพราะไม่มีเอกสารแสดงรายได้ ไม่มีสเตทเม้นท์ (Statement) แต่ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นคนมีวินัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จ่ายครบ จ่ายตรง ข้อมูลตรงนี้จะแสดงวินัย เขาก็จะได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบและเป็นลูกค้าที่ดีต่อไป มันมองได้ในมุมที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาพอสมควร เท่าที่ประเมินคือ 1-2 ปีตามที่แถลงข่าวไป คงไม่สามารถทำได้ทันทีใน 1-2 เดือนแน่ๆ “เรื่องนี้อย่าเพิ่งเข้าใจผิด เราต้องมีวิชาการมารองรับว่าภายใต้ระบบสังคม เศรษฐกิจไทยที่บางส่วนเหมือนและบางส่วนต่างจากประเทศอื่นจะทำกันแบบไหน แต่ท้ายสุดยังไงก็ต้องเป็นประโยชน์กับคนไทย จึงจะเกิดขึ้นได้ การทำความเข้าใจ การเตรียมตัว การเตรียมการ การเตรียมความพร้อมต้องจัดให้มีก่อน ไม่ใช่จู่ๆจะทำทันทีได้เลยครับ ผมเข้าใจถึงความกังวลของทุกภาคส่วนต้องขอขอบคุณที่มีข้อติติงมาให้กับเราได้คิด และต้องขอโทษทุกท่านที่อาจมีส่วนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไป” ผู้จัดการใหญ่ กล่าวในท้ายสุด
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล์ consumer@ncb.co.th หรือเว็บไซต์เครดิตบูโร www.ncb.co.th
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร
อรภัทร รังษีวงศ์ 08-1755-4498
วรอนงค์ อัจฉรารุจิ 08-6998-9363
E-mail: ilovebureau@ncb.co.th
www.ncb.co.th