กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ไทยเบฟเวอเรจ
เผยโฉม ๔๘ สุดยอดภาพถ่ายเมืองไทยที่ไฝ่ฝัน สู่สายพระเนตรของอัครศิลปินของชาวไทย ในโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๕๓ ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) แถลงข่าวสุดยอดภาพถ่าย จำนวน ๔๘ ภาพที่ผ่านรอบแรกของการประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ ๒๔ ภายใต้ชื่อ “โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๕๓” ภายใต้แนวคิด “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของศิลปินนักถ่ายภาพที่ จะมีโอกาสได้ครองถ้วยพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
การประกวดภาพถ่ายทั่วประเทศ ชิงถ้วยพระราชทาน ถือเป็นโครงการประกวดภาพถ่ายอันเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของศิลปินนักถ่ายภาพ จัดโดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับผู้สนับสนุน อาทิ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์การค้าสยามพารากอน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โซนี่ ไทย จำกัด เปิดโอกาสให้ผู้รักการถ่ายภาพส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดตั้งแต่วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๓ — ๑๘ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
- “พระคุณของคุณพ่อ” ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
- “ความรักความผูกพันของคุณแม่” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- “ยิ้มสยาม” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- “โลกแห่งจินตนาการ” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (หัวข้อนี้ เป็นหัวข้อที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้ เทคนิคพิเศษ ในด้านการสร้างสรรค์ภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็น การตกแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์, ห้องมืด หรือ อื่นๆ )
- “อนาคตของชาติ” ชิงถ้วยพระราชทานทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
นายฐาปน สิริวัฒนภักดี นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า โครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินนี้ จัดขึ้นต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี ๒๕๕๐ และต่อเนื่องมาถึงปี ๒๕๕๑-๒๕๕๒ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้รักการถ่ายภาพ ทั้งช่างภาพมืออาชีพและสมัครเล่นส่งภาพเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก และในปี ๒๕๕๓ นี้ การตัดสินภาพถ่ายจำนวนทั้งสิ้น ๔๘ ภาพ จาก ๖ หัวข้อ ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ จะนำภาพถ่ายที่ได้รับการคัดเลือกกราบบังคมทูล ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยตัดสินภาพถ่ายรางวัลชนะเลิศทั้ง ๖ หัวข้อ ซึ่งได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา และภายหลังจากที่ได้รับพระราชทานผลการตัดสินแล้ว ภาพจะถูกจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินประจำปี ๒๕๕๓ ต่อไป
ในปีนี้ โครงการฯ ได้รับความสนใจจากช่างภาพทั่วประเทศ ทั้งในระดับมืออาชีพและบุคคลทั่วไป ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดในโครงการเป็นจำนวนมากถึง ๑,๗๐๔ ภาพ จากหัวข้อ “พระคุณของคุณพ่อ” จำนวน ๒๖๙ ภาพ “ความรักความผูกพันของคุณแม่” จำนวน ๒๗๓ ภาพ “ยิ้มสยาม” จำนวน ๓๓๘ ภาพ “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” จำนวน ๒๗๑ ภาพ “โลกแห่งจินตนาการ” จำนวน ๑๔๔ ภาพ และ “อนาคตของชาติ” จำนวน ๔๐๙ ภาพ
“สำหรับการคัดเลือกรูปภาพนั้น ผ่านสายตาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการถ่ายภาพไทยร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวด อาทิ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานคณะกรรมการตัดสิน คุณยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี ๒๕๕๐ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณเดโช บูรณบรรพต ศิลปินนักถ่ายภาพในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ คุณนิติกร กรัยวิเชียร อุปนายกสมาคมฯ ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๒๕๕๒ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนรางวัลซีไรท์ ประเภทกวีนิพนธ์ ปี ๒๕๓๒ และรางวัลซีไรท์ประเภทวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน ปี ๒๕๓๘ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีศิลปินนักแสดง และศิลปินนักถ่ายภาพ คือ คุณสิกขา ฐิตะรดิศ (จี๊ด แสงทอง) ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน “
นอกจากนี้ กติกาการตัดสินนั้น ทางสมาคมได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกภาพอย่างโปร่งใสและยุติธรรมมากที่สุด ทุกภาพที่ส่งเข้าร่วมประกวด จึงมีสิทธิ์อย่างทัดเทียมกัน นอกจากนี้ การมีคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด ๔๒ ท่านจากทุกสาขาอาชีพ รวมถึงปรมาอาจารย์ในวงการถ่ายภาพไทย ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวด ทำให้มีมุมมองทางศิลปะที่แตกต่างกัน ทั้งด้านเทคนิค และความหมาย หลากหลายอารมณ์ ไม่ยึดติดกับมุมมองเดิม คาดว่าเป็นการจุดประกายให้แก่วงการถ่ายภาพได้ตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ คณะกรรมการและผู้มีเกียรติชื่นชมผลงานและมุมมองของเมืองไทยที่ใฝ่ฝัน ว่า
นายนิติกร กรัยวิเชียร อุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการตัดสินหัวข้อ “โลกแห่งจินตนาการ” กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อวิวัฒนาการการถ่ายภาพไทยว่า การประกวดต่างๆ จะเป็นการกระตุ้นให้ได้ภาพถ่ายที่มีมุมมองที่แปลกใหม่ อันนี้คงจะเป็นเนื่องจากว่า คนที่เข้ามาสนใจเรื่องการส่งภาพประกวดเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีมุมมองและแนวคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม ภาพที่ยังเป็นในแนวลักษณะเหมือนเดิมที่เคยถ่ายกันมาก็ยังมีอยู่ แต่ว่ามันก็เป็นวิวัฒนาการของมัน จะมีความแปลกใหม่ที่เข้ามาเรื่อยๆ ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะแนวโน้มก็คือ คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ มาถ่ายรูปกันมากขึ้น ซึ่งก็จะขยับในเรื่องความแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ในฐานะผู้จัดงาน สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการนี้กล่าวได้ว่า เป็นโครงการภาพถ่ายที่ใหญ่ที่สุดประจำปีนี้ เพราะว่าเป็นงานที่มีถ้วยพระราชทานถึง ๖ ถ้วย โดยแบ่งเป็น ๖ หัวข้อ ตามที่ทราบแล้วก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนที่สนใจการถ่ายภาพจะได้มาชมภาพของตนเองว่าเหมาะสมกับรางวัลในด้านไหนบ้าง เพื่อนำไปแก้ไขและพัฒนาฝีมือและเป็นแรงกระตุ้นแก่คนที่ไม่ได้ทำงานด้านการถ่ายภาพได้มาชมผลงานดีๆ เพื่อความรื่นรมย์ไปกับศิลปะภาพถ่ายสวยๆ เพราะฉะนั้นก็อยากให้มาชมนิทรรศการที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑-๑๐ กรกฎาคมนี้ ณ ลานแฟชั่น ฮออล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอนด้วยครับ
นายอนุชิต จุรีเกษ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “พระคุณของพ่อ” กล่าวว่า “ในนามบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) ฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่บริษัทได้ถูกคัดเลือกมาเป็นองค์กรหลักในการสนับสนุนสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีแสดงออกถึงความสามารถในการถ่ายภาพที่จะสื่อถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ สะท้อนให้เห็นถึงความรักความเทิดทูนของคนไทยที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจะได้มีโอกาสให้พระองค์ท่านได้ทราบถึงความรักที่พวกเรามีต่อสถาบัน และมีโอกาสได้นำภาพเหล่านี้ไปเผยแพร่ในต่างประเทศให้โลกได้รับรู้ถึงวัฒนธรรม ศิลปะ รวมถึงภูมิประเทศที่สวยงานของประเทศไทย ถือว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก”
นางสุภี พงษ์พานิช ผู้อำนวยการฝ่ายโฆษณาและส่งเสริมการขาย ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัก (มหาชน) และคณะกรรมการตัดสินหัวข้อ “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับเกียรติ ต้องขอบคุณที่ให้ตนได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นคณะกรรมการ เพราะในเมืองไทยคนที่เป็นศิลปินตัวจริงมีมากมาย ซึ่งตนเองมองในเรื่องของงานโฆษณาก็อาจเป็นอีกมุมมองหนึ่งในการมองภาพศิลปะ ในแง่คิดของคนทำโฆษณา สำหรับการตัดสินภาพในหัวข้อนี้ ตนจะดูว่าเป็นอะไรที่เราใฝ่ฝันว่าเมืองไทยจะเป็นอย่างไร มันก็มีหลายภาพที่สะท้อนว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น ซึ่งภาพที่ตนเลือกส่วนใหญ่เป็นภาพที่มีธรรมชาติ ดูแล้วสดชื่น ภาพที่สื่อความหมายว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถือเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากว่า เป็นเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์ส่งภาพ ทำให้ทุกคนได้ใช้สิ่งที่ตัวเองรักและมีความสามารถ และได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วย
นายวรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาชาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี ๒๕๕๒ และผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “ความรักความผูกพันของคุณแม่” กล่าวถึงเทคนิคในการตัดสินภาพถ่ายในหัวข้อ “ความรักความผูกพันของแม่” ว่า ภาพต้องสื่อถึงความผูกพันของแม่กับลูกอย่างแท้จริง และต้องมีความเป็นธรรมชาติ แม้กระทั่งภาพสัตว์ตนก็พิจารณา โดยอาศัยองค์ประกอบของแสง สี เงา การตกแต่ง การอัดขยาย ซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
นายเดโช บูรณบรรพต ศิลปินนักถ่ายภาพ ที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “ความรักความผูกพันของคุณแม่” กล่าวถึงปัญหาที่ส่งผลต่อวงการถ่ายภาพของไทยว่า “เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งการถ่ายภาพที่สมบูรณ์ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ การเรียนรู้ และโอกาสที่ดีอยู่เสมอ จึงจะเกิดการพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จากสังคม รวมถึงการเล่นกล้องตามกระแส ทำให้มีการศึกษาวิธีการถ่ายภาพอย่างไม่จริงจัง ดังนั้นการพัฒนาการจะเป็นไปในทิศทางที่ดีทุกคนในสังคมต้องสนับสนุนและร่วมมือกัน”
นายยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปี ๒๕๕๐ และผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “พระคุณของพ่อ” กล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นคณะกรรมการในการตัดสินรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ผมคิดว่าพัฒนาการของวงการถ่ายภาพไทยมีความพัฒนามากขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากการที่เยาวชนให้ความสนใจในการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก รวมทั้งอุปกรณ์ที่มีราคาถูกที่ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้น”
ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๒๕๕๒ ผู้ทรงคุณวุฒิสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ และคณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “ยิ้มสยาม” กล่าวว่า เทคนิคในการตัดสินภาพถ่ายหัวข้อ “ยิ้มสยาม” ยึดหลักของภาพที่สื่อถึงมุมมองส่วนตัวของผู้ถ่ายทอดว่าเวลาผู้ถ่ายหยิบสาระอะไรมาแสดงการวางคอนเซปต์นั้นสามารถพูดถึงผู้ชมได้ ภาพต้องมีความพิเศษหรือมีความพอดี โดยรูปแบบวิธีการนำเสนอนั้น จะเป็นมุมกล้องหรือจากการถ่ายจริงต้องตรงกับคอนเซปต์ สุดท้ายคือการดึงอารมณ์ออกมาทั้งหมดและมีความเป็นธรรมชาติ ภาพสามารถสื่อถึงความเป็นรอยยิ้มสยามโดยจุดเด่นของภาพนั้นไม่ต้องปรุงแต่ง สามารถสื่อถึงแรงบันดาลใจในความคิด จังหวะ มุมมองของผู้แสดงที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่าสนใจ
นางจิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนรางวัลซีไรท์ และคณะกรรมการตัดสินหัวข้อ “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” กล่าวว่า การประกวดภาพถ่ายเป็นเวทีของช่างภาพที่จะเอาผลงานมาปะทะกัน ซึ่งรางวัลต้องมีความหมาย ทั้งในแง่ของมูลค่าของรางวัล แต่ที่สำคัญกว่า คือ เป็นการกระตุ้นให้วงการถ่ายภาพพัฒนา และทำให้เราได้เทรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นข้อดีของการประกวด แต่หากว่าการประกวดกลายเป็นเรื่องการชิงรางวัลกันอย่างเดียว ก็อาจจะเป็นกับดักของการพัฒนาวงการถ่ายภาพเหมือนกัน ประมาณว่าถ้าจะถ่ายแนวนี้หมดก็ไม่ได้ ต้องเว้นที่ว่างไว้ให้พวกนอกกระแสด้วย นอกจากนี้การตัดสินภาพในหัวข้อนี้ รู้สึกว่ายากตรงที่ภาพถ่ายไม่ใช่ภาพเขียน ดังนั้น เราอยากได้ภาพที่สื่อถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี สังคมในเมืองที่สุขสงบเรียบร้อยและพอเพียง เราไม่สามารถใส่ทุกอย่างลงไปในรูปเดียวได้ จึงตัดสินช้ากว่าเพื่อน เพราะพวกที่ถ่ายธรรมชาติ ก็จะเน้นธรรมชาติ วิถีเกษตรกรรมไปเลย พวกที่ถ่ายเมืองก็จะออกมาอีกแบบหนึ่ง กรรมการก็พยายามจะชั่งน้ำหนักว่า ภาพที่สื่อว่าเป็นความใฝ่ฝันของคนไทยทั่วไปด้วย ไม่ได้เน้นเฉพาะภาพส่วนใดส่วนหนึ่ง สำหรับข้อดีของโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินนั้นทำให้ ช่า
งภาพมือใหม่สามารถแสดงมุมมองที่นอกกรอบซึ่งเป็นเรื่องดีในการขยายวงการภาพถ่ายให้กว้างขึ้นด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ญาณวิทย์ กุญแจทอง รองอธิการบดีศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรและที่ปรึกษาสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า การประกวดภาพถ่ายในโครงการภาพถ่ายแห่งแผ่นดิน ถือว่าเป็นงานที่ดีในการสนับสนุนการถ่ายภาพให้มีการพัฒนาฝีมือจากการถ่ายภาพในมุมมองเดิมๆ ในเรื่องของความยากง่าย และมุมกล้อง ทั้งนี้ผลงานที่ได้มาก็จะสะท้อนความคิด ความรู้สึก และเหตุการณ์ของช่วงเวลานั้นๆ และเป็นการบันทึกไว้ในแผ่นดิน
ผศ.ถาวร โกอุดมวิทย์ อาจารย์ประจำคณะจิตกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และที่ปรึกษาสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการพัฒนาการของวงการถ่ายภาพของไทยว่า “ตั้งแต่คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์นั้น ตนรู้สึกว่าสมาคมได้มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดีในการพัฒนาวงการถ่ายภาพของไทย โดยสิ่งสำคัญที่มีส่วนพัฒนาอีกทางคือการจัดอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยสร้างมุมมองให้หลากหลาย เพราะส่วนมากบ้านเรามักเน้นการถ่ายภาพที่เน้นถึงความสวยงามองค์ประกอบจัดแสง สี เงา แต่การที่เราจะไปสู่ระดับอินเตอร์ได้นั้น ศิลปินนักถ่ายภาพจะต้องมีหลายมุมมองและให้ความสำคัญกับคอนเซ็ปของภาพมากขึ้น”
นายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ อาจารย์พิเศษคณะมัฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปกากร และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “เมืองไทยที่ใฝ่ฝัน” กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการดีๆ ที่ไทยเบฟ ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพ เพราะเป็นการเปิดโอกาสในการแสดงฝีมือและกระตุ้นให้แก่บุคคลที่มีความสนใจในการถ่ายภาพโดยเฉพาะอย่ายิ่งประชาชนทั่วไปหรือเยาวชน นอกจากนี้คณะกรรมการที่ให้เกียรติมาเป็นผู้ตัดสินในการประกวดครั้งนี้ก็มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งแต่ละท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ถือเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ที่สามารถให้บุคคลระดับนี้มารวมตัวกันเพื่อตัดสินงานได้
นางสาวสิกขา ฐิตะรดิศ (จี๊ด แสงทอง) ศิลปินนักแสดง และศิลปินนักถ่ายภาพ และอุปนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยฯ คณะกรรมการตัดสินในหัวข้อ “ยิ้มสยาม” กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่มีส่วนร่วมในการตัดสินภาพถ่ายอันทรงเกียรติ ซึ่งถือว่ารางวัลของการประกวดภาพถ่ายนี้มีคุณค่า โดยตนมีหลักในการตัดสินภาพในหัวข้อ “ยิ้มสยาม” คือ ภาพนั้นต้องสื่อถึงรอยยิ้มของคนไทย ความเป็นไทยอย่างแท้จริง ซึ่งโดยรวมภาพต้องวางองค์ประกอบที่สมบูรณ์และดูโดดเด่น
ทั้งนี้ ภาพถ่ายทั้งสิ้น ๑๙๘ ภาพที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการ จะนำไปจัดแสดงในนิทรรศการภาพถ่ายแห่งแผ่นดินประจำปี ๒๕๕๓ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ แฟชั่น ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยาม พารากอน
ขอขอบคุณที่กรุณาเผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)