สปส. ยืนยันที่ผ่านมาบริหารกองทุนมั่นคงแม้เป็นระบบราชการ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 30, 2007 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สปส.
ตามที่นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีเงินชราภาพของกองทุนประกันสังคม มักมีวาระทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ทุกฝ่ายพยายามเอาเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ไปใช้ประโยชน์ แม้แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังจะเอาไปใช้ตั้งธนาคารแรงงาน หาก สปส.ไม่มีความมั่นใจว่าจะบริหารการลงทุนได้ ก็ไปว่าจ้างให้ กบข.ช่วยลงทุนให้ก็ได้ นั้น
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า แนวคิดการปรับสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระนั้น ผู้บริหารของสำนักงานประกันสังคมไม่ขัดข้อง หากเป็นความต้องการของผู้ประกันตนซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่แท้จริง ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประกันสังคมครั้งที่ผ่านมานั้น ศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ได้เสนอผลการศึกษาการปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านการลงทุน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่ามีความจำเป็น แต่ให้ ดร. สมคิดจัดทำรายละเอียดเพื่อนำกลับมาเสนออีกครั้ง อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวได้จุดประกายให้ผู้นำแรงงานหลายฝ่ายเสนอให้ปรับสำนักงานประกันสังคมทั้งระบบให้เป็นองค์กรอิสระ ดังที่เป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 17 ปีที่สำนักงานประกันสังคมปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายในการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปจัดหาผลประโยชน์นั้น ถึงแม้ว่าจะบริหารด้วยระบบราชการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประกันสังคม แต่สำนักงานก็ได้สร้างผลกำไรให้กับกองทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในจำนวนเงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 427,243 ล้านบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 นั้น แบ่งเป็นเงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และ รัฐบาลจำนวน 329,931 ล้านบาท และเป็นผลตอบแทนสะสมจากการนำเงินไปลงทุนจำนวน 97,312 ล้านบาท กล่าวได้ในอีกนัยหนึ่งว่า หากสำนักงานไม่ทำหน้าที่นำเงินไปลงทุนตามกฎหมาย กองทุนคงไม่เติบโตจนมีเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาทเช่นในทุกวันนี้
เงินลงทุนจำนวน 427,243 ล้านบาทในปัจจุบัน แบ่งลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง (ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เงินฝากธนาคาร และหุ้นกู้เอกชน) จำนวน 355,735 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของเงินลงทุน และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (ได้แก่ ตราสารหนี้อื่นๆ หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ) จำนวน 71,508 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17 ของเงินลงทุน
ในปี พ.ศ. 2549 กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 17,346 ล้านบาท ส่วนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2550 กองทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 4,245 ล้านบาท (ประกอบด้วยดอกเบี้ยรับจากพันธบัตรและหุ้นกู้ จำนวน 3,980 ล้านบาท เงินปันผลและกำไรจากการขายหุ้นจำนวน 265 ล้านบาท) คิดเป็นอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนเท่ากับร้อยละ 4.31 ต่อปี อัตราผลตอบแทนดังกล่าวคิดตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 40
ถึงแม้ว่ากองทุนประกันสังคมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จะเป็นกองทุนบำนาญเหมือนกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่กำหนดสิทธิประโยชน์ (Defined Benefit) เป็นสูตรบำนาญตายตัว โดยนายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่สมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 เท่ากัน เมื่อเกษียณลูกจ้างจะได้รับบำนาญในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนเฉลี่ย 180 เดือนสุดท้าย สำนักงานจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารกองทุนให้เกิดดอกผลมากพอที่จะนำไปจ่ายบำนาญในอนาคต ในขณะที่กองทุนกบข. เป็นกองทุนที่กำหนดอัตราเงินสมทบ (Defined Contribution) ให้ข้าราชการและรัฐบาล (ในฐานะนายจ้าง) สมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 เท่ากัน เมื่อข้าราชการเกษียณจะได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนเท่ากับเงินที่ตนเองกับรัฐบาลสมทบบวกผลตอบแทนจากการลงทุน เงินบำเหน็จที่ข้าราชการจะได้รับจึงไม่ถูกกำหนดไว้ตายตัว ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนจากการลงทุน
นอกจากนี้ ทั้งสองกองทุนใช้ตัวเทียบวัดแตกต่างกัน จึงไม่สามารถนำผลการดำเนินงานมาเปรียบเทียบกันได้ อย่างไรก็ดี สำนักงานได้มีการวัดผลการดำเนินงานเป็นการภายในโดยใช้ตัวเทียบวัดแบบเดียวกับ กบข. พบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมได้รับผลตอบแทนร้อยละ 8.11 ต่อปี ในขณะที่กบข. ได้รับผลตอบแทนร้อยละ 5.34 ต่อปี
ทั้งนี้ การลงทุนทั้งหมดของกองทุนประกันสังคมนั้น เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2549 และเป็นไปตามแผนการลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้แทนไตรภาคี ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายละ 5 คนเท่าๆ กัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการประกันสังคมได้ทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถในการปกป้องผลประโยชน์ของกองทุน แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งธนาคารแรงงาน การปล่อยกู้ให้กับผู้ประกันตน รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลล้วนเป็นข้อเสนอจากนักวิชาการทั้งสิ้น ซึ่งหากข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจากผู้ประกันตนจำนวนกว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศว่าเหมาะสม คณะกรรมการและสำนักงานประกันสังคมก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด ทั้งนี้ผู้ประกันตนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนประกันสังคมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th
สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม โทร. 02 956 2412

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ