กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม
กระทรวงอุตสาหกรรมเทงบ 72 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรคัดสรรสถานประกอบการนำร่อง 75 จังหวัดเซ็น MOU โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กิจการท้องถิ่น เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดตัวโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาคตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค ว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศอย่างจำเป็นเร่งด่วน คือ การเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ให้กับสถานประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการและการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจัดงบประมาณ 72 ล้านบาทเพื่อขยายกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรแปรรูปรวม 150 รายที่พร้อมจะพัฒนากิจการของตนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการนำร่อง และคาดว่าแต่ละรายจะมีมูลค่ายอดขายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 10
“เมื่ออุตสาหกรรมเน้นเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรนั่นคือการใช้ทุนจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจการของคนไทยทั้งสิ้น การส่งเสริมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม จะช่วยนำเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน เพราะอยู่ในฐานของการพึ่งพาตนเอง โดยโครงการจะช่วยเสริมสร้างความคิดของผู้ประกอบการไทยให้ได้ใช้ความรู้มาพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรของไทยมีการแข่งขันสูงและกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันลง นโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรจะทำให้ประเทศไทยคงความเป็นแหล่งแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตรที่สำคัญของโลกต่อไป” นายปิยะบุตรกล่าว
โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาคตามนโยบาย 1 Province 1 Agro — Industrial Product มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการและสถานประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรทั่วประเทศ ด้วยการจัดทีมที่ปรึกษาเข้าไปเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการนำร่องใน 5 ด้าน คือ 1) บริหารวัตถุดิบและโลจิสติกส์ อาทิ การวิเคราะห์ระดับ Stock ของวัตถุดิบต่อวัน สัดส่วนการสูญเสียวัตถุดิบ การตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ กระบวนการรวบรวมวัตถุดิบและโลจิสติกส์ของโรงงาน 2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยคำนึงในด้านการวางแผนและสัดส่วนการผลิต ความสูญเปล่าในการทำงานของแรงงาน การขนย้ายวัตถุดิบ ระบบแสดงบัญชีต้นทุนการผลิต เป็นต้น 3) ลดต้นทุนทรัพยากรและพลังงาน เช่นการใช้อุปกรณ์ที่ใช้พลังงานสูงให้มีประสิทธิภาพ การใช้ระบบการ รีไซเคิลน้ำ 4) ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือระบบสู่มาตรฐานสากล โดยที่ปรึกษาจะสำรวจความพร้อมของสถานประกอบการและให้ข้อแนะนำเพื่อการขอการรับรอง และ 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์
โครงการดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลให้เกษตรกรและประชาชนในภูมิภาคเข้าใจการพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่นเพราะได้สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการเพื่อเป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ของจังหวัดอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาคระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำร่องประจำภาคกลาง ตะวันออกและตะวันตกเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่กรุงเทพมหานคร และ ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ อีก 3 ครั้ง ซึ่งได้จัดขึ้นในวันที่ 5 มิ.ย. ที่จังหวัดขอนแก่น วันที่ 7 มิ.ย. ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และวันที่ 8 มิ.ย. ที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
นิตยา วงศ์วิชิต โทร. 089-4503377 หรือ 02-6633226
มณฑิรา นาควิเชียร โทร. 081-6688900
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net