เคทีซีผนึกบ้านธัญญพรโชว์ผลงานโบว์แดง “เรือนรักษ์ดรุณี” ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กหญิง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 3, 2011 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--บัตรกรุงไทย เคทีซีจับมือบ้านธัญญพรร่วมผลักดันการป้องกันปัญหาสังคมที่ต้นเหตุ เปิด “เรือนรักษ์ดรุณี” ตัวอย่างศูนย์การเรียนรู้กระบวนการคุ้มครองช่วยเหลือเด็กหญิงครบวงจร ที่รวบรวมทุกขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่การให้อุปการะ การพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เพื่อการพึ่งพาตนเอง จนถึงกระบวนการพากลับสู่สังคม รวมถึงตัวอย่างกรณีศึกษาต่างๆ อาทิ การจัดทำสวนเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อสร้างเสริมทักษะอาชีพเบื้องต้น โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมและศึกษาดูงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-11.00 น. และ14.00 น.-15.00 น. หวังเป็นแหล่งข้อมูลในการร่วมหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาสังคมไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เคทีซีได้ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมด้านการศึกษาเป็นหลัก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนช่วยเหลือสถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพร ด้วยรูปแบบของการให้ที่ไม่ใช่เพียงเงินสนับสนุน แต่ทีมเจ้าหน้าที่ “เคทีซี” ได้เข้าทำงานร่วมกับผู้ปกครองในบ้านธัญญพรเพื่อช่วยกันพัฒนาเด็กๆ ทั่วทั้งระบบ ทั้งการปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมที่เด็กๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการจัดจ้างนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา สร้างทัศนคติในเชิงบวก และการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาและสันทนาการ ให้เด็กๆ มีพัฒนาการสมวัย มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข โดยเจ้าหน้าที่เคทีซีจำนวนมากได้อาสาสมัครร่วมทำกิจกรรม และเป็นพี่เลี้ยงดูแลมอบความรักความอบอุ่น เพื่อชดเชยในสิ่งที่เด็กๆ ขาดหาย” “การทำงานอย่างหนักและจริงจังตลอด 5 ปีที่ผ่านมาของเคทีซีและบ้านธัญญพร ได้ทำให้เด็กหญิงเล็กๆ ในบ้านธัญญพรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล้าที่จะออกมาสู่สังคมมากขึ้น และมีทัศนคติเชิงบวกต่อคนในสังคม ซึ่งผลตอบรับที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ เราสามารถนำเด็กกลับคืนบ้านของตัวเองได้มากขึ้น และน้องๆ บางคนมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ร่าเริง และสามารถหารายได้ด้วยตนเองควบคู่ไปกับการเรียนจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี” “และในวันนี้เคทีซีจึงได้ร่วมกับบ้านธัญญพรสนับสนุนการก่อสร้าง “เรือนรักษ์ดรุณี” เพื่อใช้เป็นสถานที่นำเสนอเผยแพร่ผลงานการทำงานช่วยเหลือเด็กหญิงอย่างครบวงจร ตลอดจนใช้เป็นพื้นที่ในการจัดกิจกรรมฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ก้าวไปอีกขั้น เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ในบ้านฯ มีศักยภาพและมีความสามารถพิเศษเฉพาะตัวซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นอาชีพได้ จึงได้ริเริ่มการทำสวนเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อส่งเสริมฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้น อาทิ การเลี้ยงปลา ปลูกผักปลอดสารพิษ พืชสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะใช้ดำรงชีวิตในบ้านแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง จึงนับเป็นการช่วยผลิตบุคลากรคุณภาพที่มีความรู้วิชาชีพป้อนกลับสู่สังคมอีกทางหนึ่ง” นางเยาวมาลย์ ไชยรัตนะ ผู้ปกครองสถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพร กล่าวว่า “เราตั้งชื่ออาคารหลังนี้ว่า “เรือนรักษ์ดรุณี” โดยมุ่งหวังจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญต่อการทำงานช่วยเหลือเด็กหญิงอย่างครบวงจร โดยภายในอาคารแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ส่วนส่งเสริมการเรียนรู้ นำเสนอกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานแรกรับเด็กหญิงบ้านธัญญพรและการทำงานช่วยเหลือเด็กหญิงแบบครบกระบวนการ ตั้งแต่การให้อุปการะจนถึงการนำกลับสู่สังคม และศูนย์ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวข้องในระบบอิเล็กทรอนิกส์และมุมหนังสือ 2. ส่วนส่งเสริมกิจกรรมบำบัดเพื่อให้เด็กผ่อนคลายจิตใจ ได้แก่ มุมดนตรีสากล มุมดนตรีไทย และเวทีแสดงความสามารถของเด็ก เช่น การเล่านิทาน 3. ส่วนส่งเสริมทักษะทางอาชีพด้านโภชนาการ โดยจัดในรูปแบบของร้านกาแฟและอาหารว่าง การเขียนผ้าบาติก และการทำดอกไม้ประดิษฐ์ ในอนาคตสถานแรกรับฯ จะดำเนินการปรับปรุงให้เรือนรักษ์ดรุณีแห่งนี้ เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิตเพื่อใช้ค้นคว้าความรู้และทักษะในด้านการพัฒนาและฟื้นฟูเด็กที่ประสบปัญหาในเรื่องพฤติกรรมและการถูกทารุณกรรมที่สมบูรณ์ต่อไป” “ศูนย์การเรียนรู้ “เรือนรักษ์ดรุณี” หลังนี้ ยังเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปเข้าชมและศึกษากรณีตัวอย่างโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.-11.00 น. และ 14.00 น.-15.00 น. สอบถามข้อมูลติดต่อได้ที่โทรศัพท์ 02-577-6572 ต่อ 202, 204” นายนิวัตต์กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายของเราจากนี้จึงต้องการเห็นจำนวนเด็กในบ้านธัญญพรลดลง และเห็นคนไทยร่วมมือร่วมใจกันป้องกันปัญหาการทำร้ายทารุณเด็ก และปัญหาอื่นๆ ในสังคมอีกมากมายตั้งแต่ต้น มิใช่การแก้ไขที่ปลายเหตุ โดยหวังว่าการดำเนินการของบ้านธัญญพรในการช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้จะเป็นแนวทางให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ นำไปพัฒนาต่อยอดในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้บรรเทาเบาบางลงให้มากที่สุด เพราะถ้าเราสามารถสร้างเยาวชนวันนี้ให้มีคุณภาพมากเท่าใด เราก็จะมีผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมมากขึ้นเท่านั้น ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับสากล และสังคมไทยก็จะอยู่กันอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน” ฝ่ายสื่อสารองค์กรและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รายละเอียดเพิ่มเติม : กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง โทรศัพท์ 02-828-5057 สุชาดา วีระสกุลรักษ์ โทรศัพท์ 02-828-5732 วิกานดา มุทิตานนท์ โทรศัพท์ 02-828-5402 โทรสาร 02-828-5046 อีเมลล์ : ktc_pr@ktc.co.th
แท็ก เคทีซี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ