ปภ.จัดสัมมนานำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติของไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 3, 2011 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.พ.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไปกำหนดเป็นกรอบแนวทาง มาตรการ แผนงาน และโครงการที่เหมาะสมในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ครอบคลุม ๓ ประเภทภัยในพื้นที่นำร่อง ๕ จังหวัด นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายปี 2553 ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติและกลไกการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีเอกภาพ หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ (MOU) และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการภายใต้ MOU ดังกล่าวขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงทั้งสองกระทรวงเป็นประธานร่วม พร้อมทั้ง ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งเพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเพื่อเป็นการบูรณาการเรื่องดังกล่าวจากทุกภาคส่วน กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกำหนดกรอบแนวทางในการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 3 ประเภทภัย ได้แก่ อุทกภัยและดินถล่มในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี ภัยแล้งในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ และไฟป่าและหมอกควันในจังหวัดลำปาง ซึ่งจะได้นำผลการดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่องไปปรับใช้ให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์กับการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพับัติทางธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป ดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่พี่น้องประชาชนในต่างจังหวัดในชนบท โดยได้มี การนำเทคโนโลยีไปใช้ในการป้องกัน แก้ไข และรับมือกับภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำท่วม ภัยแล้ง ดินถล่ม ซึ่งถือเป็นภัยธรรมชาติที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ ในหลายจังหวัดของประเทศ ดังจะเห็นได้จากกรณีการเกิดน้ำท่วมที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ก็ได้ใช้ดาวเทียม Theos ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกแบบใช้เลนส์ รวมทั้งดาวเทียมสำรวจดวงอื่น ๆ ที่เป็นเครือข่ายและพันธมิตร มาใช้เพื่อการถ่ายภาพพื้นที่น้ำท่วม และติดตามเส้นทางการไหลของน้ำ และการจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปช่วยเหลือในการวางแผนป้องกัน แก้ไข และรับมือกับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ดินถล่ม และหมอกควันไฟป่าในจังหวัดนำร่อง ๕ จังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และยังได้รับทราบว่ากระทรวงมหาดไทยมีการเตรียมความพร้อมกับจังหวัดนำร่อง และมีการพูดคุยประสานงานกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็จะทำให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีข้อมูลเกี่ยวกับการติดตามและคาดการณ์ฝนและลมที่ทันสมัย ครอบคลุมทุกจังหวัด และเป็นข้อมูลที่ประโยชน์ต่อกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นประโยชน์ที่จะนำมาใช้ผลักดันและขับเคลื่อนความร่วมมือในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ครอบคลุมพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจัดสัมมนาในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา ภัยพิบัติ รวมถึงกำหนดกรอบแนวทางที่เหมาะสมสำหรับดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง โดยแบ่งการสัมมนาเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ภาคเช้าเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากผู้เชี่ยวชาญมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ส่วนภาคบ่าย เป็นการประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นใน 3 ประเด็น ได้แก่ การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินถล่ม ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาไฟป่าและหมอกควัน นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาในครั้งนี้ไปใช้เป็นกรอบแนวทาง ในการดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศเป็นระบบและมีเอกภาพ ในระยะยาว 0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ