ทริสเรทติ้งจัดอันดับหุ้นกู้ชุดใหม่ “บ. บัตรกรุงไทย” ที่ “A-” พร้อมเปลี่ยนแนวโน้มเป็น “Positive”

ข่าวทั่วไป Wednesday February 9, 2005 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” ในขณะเดียวกันได้จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” อันดับเครดิตสะท้อนสถานภาพผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิต รวมทั้งการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังสะท้อนความสามารถของคณะผู้บริหารตลอดจนประสิทธิภาพของระบบงานและระบบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งเหล่านี้ถูกจำกัดบางส่วนจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการบัตรเครดิตทั้งที่เป็นและไม่เป็นธนาคารพาณิชย์ และกฎเกณฑ์การควบคุมของทางการที่เข้มงวดขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” ของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตจากกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดที่ประสบความสำเร็จซึ่งทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มปริมาณการใช้บัตรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่ธุรกิจของบริษัทเติบโตขึ้นภายใต้การนำของกลุ่มผู้บริหารที่แข็งแกร่ง บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคงคุณภาพสินเชื่อและนโยบายการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สูญที่น่าพอใจมาโดยตลอด นอกจากนี้ บริษัทยังประสบความสำเร็จในการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่คือสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2547 และในเดือนกันยายน 2547 บริษัทได้เสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อีกประเภทคือสินเชื่อเจ้าของกิจการซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่เสริมให้บริษัทประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นหรือไม่
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ในอดีต บริษัทบัตรกรุงไทยมีสถานภาพเป็นบริษัทย่อยของธนาคารกรุงไทย ในระหว่างปี 2539 ถึงเดือนมิถุนายน 2545 บริษัทให้บริการเฉพาะธุรกิจบริหารบัตรเครดิตแก่ธนาคารกรุงไทยโดยไม่มีการบันทึกรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินในรายการบัญชีของบริษัท แม้จะได้รับการแปรรูปและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลายปี 2545 แต่บริษัทก็ยังคงได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านการเงินและการตลาดจากธนาคารกรุงไทย นับตั้งแต่บริษัทแยกตัวออกมาในเดือนกรกฎาคม 2545 ธนาคารกรุงไทยก็ยังคงให้วงเงินสินเชื่อแก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมียอดรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2546 ถึง 13,030 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ธนาคารก็ยังคงวงเงินสินเชื่อไว้ที่ระดับเดิม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทมีเงินทุนจากแหล่งอื่นด้วย จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทใช้วงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยเพียง 600 ล้านบาท โดยคงเงินกู้ดังกล่าวเอาไว้เป็นแหล่งสำรองสุดท้าย ในเดือนพฤศจิกายน 2546 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1,050 ล้านบาทเป็น 2,580.2 ล้านบาทโดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งทำให้บริษัทมีเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้น
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า หลังจากแยกตัวออกจากธนาคารกรุงไทยแล้ว บริษัทบัตรกรุงไทยได้ใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก รวมทั้งยกเลิกการคิดค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น จำนวนผู้ถือบัตรเครดิตของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 171,266 ใบในปี 2544 เป็น 598,173 ใบในปี 2545 เป็น 785,107 ใบในปี 2546 และ 1,001,420 ใบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 โดยส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มจาก 7% ของจำนวนบัตรเครดิตโดยรวมที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ในปี 2544 มาเป็น 17.6% ในปี 2545 และ 17.7% ในปี 2546 อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเหลือ 12.2% แม้จำนวนบัตรเครดิตของบริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องก็ตาม การลดลงดังกล่าวเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของตลาดบัตรเครดิตให้ครอบคลุมถึงผู้ออกบัตรที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ และรวมบัตรเครดิตประเภท Private Label และบัตรเงินสดเข้ามาด้วย เป็นผลให้ฐานจำนวนบัตรของทั้งตลาดสูงขึ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 บริษัทมียอดหนี้คงค้างสุทธิของธุรกิจบัตรเครดิตที่ระดับ 12,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 11,173 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 ซึ่งคิดเป็น 67.7% และ 78.4% ของสินทรัพย์รวมตามลำดับ ในขณะเดียวกัน บริษัทมียอดสินเชื่อส่วนบุคคล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 ที่ระดับ 3,596 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.9% ของสินทรัพย์รวม
บริษัทมีสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้าต่อบัตร 1 ใบใน 1 เดือนลดลงจาก 5,113 บาทในปี 2545 เป็น 4,088 บาทในปี 2546 และเป็น 3,528 บาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 เนื่องจากผู้ถือบัตรจำนวนมากถือครองบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ อย่างไรก็ตาม อัตราการใช้บัตรซ้ำของบริษัทก็เพิ่มขึ้นจาก 71.8% ของการใช้จ่ายในปี 2545 เป็น 78.6% ของปี 2546 และ 79.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรสุทธิ 454 ล้านบาทสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2547 เปรียบเทียบกับกำไรสุทธิ 353 ล้านบาทสำหรับปี 2546 ทั้งปี อัตราส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2547 มียอดใกล้เคียงกับอัตราการเรียกเก็บเงินรายเดือนจากลูกค้า ซึ่งช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ