กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศในไทย 2549-2550 ระบุต่างชาติยังเชื่อมั่นประเทศไทย โดยร้อยละ 43 ยังรักษาระดับการลงทุนเท่าปัจจุบัน ส่วนนักลงทุนร้อยละ 35 จะเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย พร้อมมั่นใจยอดขายทั้งในประเทศการส่งออก และอัตราการใช้กำลังการผลิต จะมีการปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2550
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 2549-2550 ซึ่งบีโอไอได้มอบหมายให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการสำรวจ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในไทย พบว่า นักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ สหรัฐอมริกา ยังมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในประเทศไทย โดยร้อยละ 43 จะรักษาระดับธุรกิจที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยเท่ากับปัจจุบัน และร้อยละ 35 จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น มีนักลงทุนเพียงร้อยละ 4 เท่านั้นที่อาจจะลดขนาดธุรกิจ หรืออยู่ระหว่างตัดสินใจลงทุนในประเทศอื่น
ทั้งนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่ายอดขายสินค้าทั้งในประเทศและยอดขายจากการส่งออก รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิต จะมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดว่าผลกำไรของผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนยังเชื่อมั่นต่อประเทศไทยนั้น มาจากความเชื่อมั่นในด้านความต้องการของตลาดต่างประเทศ โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ รวมถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดภายในประเทศที่ยังมีทิศทางที่ดี และนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ที่ยังจูงใจให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกับประเทศคู่แข่งสำคัญ 4 ประเทศ คือ จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซียนั้น ส่วนใหญ่ยังมองว่าการลงทุนในไทยมีความได้เปรียบหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน โลจิสติกส์ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนปัจจัยเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนนั้น ไทยอาจเสียเปรียบจีน แต่สิทธิประโยชน์ของไทยอยู่ในระดับทัดเทียมกับเวียดนาม และได้เปรียบเมื่อเทียบกับอินเดียและมาเลเซีย สำหรับปัจจัยที่ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศอื่นๆ นั้น ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยด้านราคาน้ำมัน มาตรการทางการเงิน และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
การสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยครั้งนี้ ดำเนินการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นบริษัทต่างชาติที่มีหุ้นต่างชาติตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป ที่เปิดดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่ได้รับการส่งเสริมและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยส่งแบบสอบถามออกไปจำนวน 2,500 ราย และได้รับแบบสอบถามกลับมาจำนวน 514 ราย หรือร้อยละ 21