กรมสรรพากรแนะผู้เสียภาษีใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ถูกต้อง ก่อนยื่น แบบฯ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91

ข่าวทั่วไป Friday February 4, 2011 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--กรมสรรพากร นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากรในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ในการคำนวณภาษี เพื่อยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ผู้เสียภาษีมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ ได้ตามที่กฎหมายกำหนด จึงขอให้ผู้เสียภาษีทำความเข้าใจและตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ว่าได้กรอกรายการต่าง ๆ ตรงตามสิทธิและเงื่อนไขหรือไม่ พร้อมกับแสดงรายการเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เพราะนอกจากจะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถให้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็วแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องของการกรอกแบบฯ ที่ผิดพลาดให้น้อยลง โดยเฉพาะในรายที่มีสิทธิได้รับภาษีคืน ก็จะช่วยให้ได้รับการคืนภาษีตามสิทธิ ได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย” สำหรับในปีภาษี 2553 มีมาตรการภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อน ซึ่งมีผลต่อการคำนวณภาษี ดังนี้ 1. ค่าการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศไทย สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พักโรงแรมในประเทศ ซึ่งได้จ่ายไประหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2553 — วันที่ 31 ธันวาคม 2553 สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 2. ค่าเบี้ยประกันชีวิตสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริงจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท กรณีมีการจ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรอง เลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินได้จ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น เมื่อรวมเงินได้จากเบี้ยประกันภัย แบบบำนาญ หลังจากใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินจากเบี้ยประกันชีวิตอื่นแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท (กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญฯ บริษัทฯต้องยื่นขอความเห็นชอบจากสำนัก คปภ. (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย)) ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร 3. เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย บุคคลธรรมดาที่มีการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 โดยบริจาคผ่านตัวแทนรับบริจาคที่เป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เช่น สถาบันการเงิน บริษัทมหาชน จำกัด สถานีโทรทัศน์ พรรคการเมือง องค์การของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ผู้บริจาคสามารถนำจำนวนเงินที่บริจาคมาหักเป็น ค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เมื่อรวมกับการบริจาคอื่นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ 4. คนพิการ (ต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการ) ที่มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้ฯ ให้ยกเว้นเงินได้ 190,00.- บาท ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ