กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--TK park
ห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ คว้ารางวัลชนะเลิศ “ ห้องสมุดมีชีวิต TK park Living Library Award ครั้งที่ 3” จัดโดยสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park เพื่อเพิ่มทักษะการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการห้องสมุดเชิงรุกสู่ชุมชนมีมากกว่าการยืม-คืน ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย แนะบทบาทใหม่บรรณารักษ์ จะต้องมีความรู้ เข้าถึงหนังสือและทำหนังสือให้มีชีวิต ด้าน ผอ.สอร. หนุนแนวคิดอาสาสมัครส่งเสริมการรักการอ่าน เพื่อนำหนังสือออกไปหมุนเวียนสู่ชุมชน ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านแบบเชิงรุก สร้างห้องสมุดมีชีวิต ที่มีมากกว่าการยืม-คืน
เมื่อเอ่ยถึง “ห้องสมุด” หลายคนมักนึกถึงภาพของสถานที่ที่เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือหลากหลายจำนวนมาก และผู้มาใช้บริการจะต้องนิ่ง เงียบ และสงบ ทำให้หลายคนอาจรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศ
สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เน้นส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีใจรักการอ่าน และการแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ด้วยบรรยากาศการเรียนรู้ที่ทันสมัยในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” จึงได้จัดประกวด “ห้องสมุดมีชีวิต TK park Living Library Award ครั้งที่ 3” ขึ้น ภายใต้โครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
เพื่อขยายแนวคิดการจัดการห้องสมุดในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” ออกไปอย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรม รวมทั้งกระตุ้นให้ “บรรณารักษ์” ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุน ปลูกฝัง ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชน โดยห้องสมุดที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ ทั้งสิ้น 10 แห่ง ซึ่งผู้ชนะเลิศคือ “ห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ” โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา กรรมการปฏิรูป เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน และศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการอบรมและประกวดห้องสมุดมีชีวิต ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) กล่าวถึงจุดเด่นของห้องสมุดประชาชนขุขันธ์ว่า แม้จะเป็นห้องสมุดขนาดเล็กที่มีหนังสืออยู่เพียง 4,000 เล่ม แต่สามารถจัดทำแผนการดำเนินการในการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุด โดยทำให้หนังสือที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดการหมุนเวียนกระจายออกไปยังกลุ่มนักอ่านนอกห้องสมุดได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายชุมชนที่เรียกว่า “อาสาสมัครส่งเสริมการรักการอ่าน” โดยเปิดรับแกนนำอาสาสมัครจากชุมชน เพื่อนำหนังสือจากห้องสมุดออกไปใช้เผยแพร่ และกระตุ้นให้เกิดการรณรงค์การอ่านในชุมชน นอกจากกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับการอ่านแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความมุ่งมั่นของ “บรรณารักษ์”
อย่างไรก็ตาม ผอ.สอร. กล่าวว่า หลังจากนี้จะได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินงานของห้องสมุดแต่ละแห่ง โดยจะมีคณะวิจัยประเมินผลถึงข้อเด่น ข้อด้อยเพื่อนำมาปรับปรุงต่อไป เพราะเห็นว่ายังมีสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน เพราะทีเคพาร์คไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านท้องถิ่น ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ อาจไม่ถือเป็นการประกวดแต่เป็นการติดอาวุธให้กับบรรณารักษ์ ในรูปแบบของการอบรม การให้ความรู้ การวางแผน การบริหารจัดการ และการตลาด นอกเหนือจากความรู้ของบรรณารักษ์ที่รู้กันอยู่แล้ว
ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทใหม่ของบรรณารักษ์ว่า จะต้องมีความรู้เรื่องของหนังสือ พยายามเข้าถึงหนังสือและทำหนังสือให้มีชีวิต รวมทั้งต้องทำความเข้าใจในเนื้อหาให้ลึกซึ้งและปฏิบัติได้ด้วย อาทิ การอ่านเรื่องรามเกียรติ์ บรรณารักษ์อาจต้องลองฝึกหัดท่าทาง การร้อง หรือ หัดแต่งโขน เพื่อให้เนื้อหาและตัวหนังสือนั้นมีชีวิตขึ้นมา เพราะการที่หนังสือจะมีชีวิตได้ ต้องมาจากการอ่านให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติ ดึงชีวิตออกมาจากตัวหนังสือ เพื่อให้เข้าถึงผู้อ่าน ไม่ว่าเด็ก หรือผู้ใหญ่
ด้านนางนงคราญ แก้วจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการที่ TK park จัดขึ้นนี้ เป็นโครงการที่ดี ไม่ใช่เพียงการประกวดเท่านั้น เพราะมีการจัดอบรมและให้ความรู้ก่อน จึงมีการประเมินผล ซึ่งก็คือ การประกวด ถือเป็นรูปแบบที่ดีและอยากให้มีการจัดโครงการดี ๆ เช่นนี้ต่อไป
“ สิ่งที่ได้รับจากการอบรมจาก TK park ทำให้บรรณารักษ์เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้ เกิดการตื่นตัว เพราะโดยปกติแล้วบรรณารักษ์จะไม่เก่งเรื่องของการจัดกิจกรรม การวางแผน และการเขียนโครงการหรือกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จากเดิมที่บรรณารักษ์ทำหน้าที่เพียงการยืม-คืนหนังสือเท่านั้น นอกจากนี้ยังเกิดการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างห้องสมุดอื่น ๆ ”
นางนงคราญ ยังกล่าวถึงแนวคิดของห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ว่า การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้รูปแบบการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดนิสัยรักการอ่านในรูปแบบของ “ ห้องสมุดมีชีวิต ” นั้น ไม่ใช่อยู่ในห้องสมุดเท่านั้น แต่ต้องออกไปสู่ชุนชนมากขึ้น เพื่อชุมชนได้มีโอกาสอ่านมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดในการสร้างเครือข่าย “ อาสาสมัครส่งเสริมการรักการอ่าน” ขึ้น โดยการเปิดรับสมัครจากประชาชนทั่วไปที่มีจิตอาสา เพื่อส่งเสริมการรักการอ่านแบบเชิงรุก เริ่มจาก ภายในบ้าน จากครอบครัวหนึ่งค่อย ๆ ขยายออกไป
จากการทดลองมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นแกนนำอาสาสมัครจากจำนวน 22 คน ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 44 คนแล้ว ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังทำให้ได้รู้ถึงความต้องการในการอ่านของคนในพื้นที่ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เช่น หนังสือธรรม หนังสือประกอบอาชีพ เป็นต้น ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ กศน.
นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจกับรางวัลที่ได้ครั้งนี้ แม้จะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น แต่การมีอาสาสมัครนำร่องทั้ง 22 คน
จึงมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดรูปแบบของ “ห้องสมุดมีชีวิต” เปรียบเสมือนบรรณารักษ์อีกคนที่นำหนังสือ
เข้าไปสู่ชุมชนโดยที่ไม่ต้องมีห้องสมุด พร้อมยอมรับว่าการเขียนแผนที่ผ่านการอบรมจาก TK park ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มพูนมากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้และเห็นผลได้จริงในเชิงคุณภาพ เกิดการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นส่วนของหนังสือ การให้บริการ รวมถึงบรรณารักษ์ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมซึ่งเดิมไม่เคยทำและไม่รู้วิธีการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่จะให้เข้าถึงประชาชนมาก่อน โครงการนี้ช่วยจุดประกายให้มีกำลัง ในการทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งผลคือ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้มาใช้บริการ ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 70