กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--กทม.
กทม. เดินหน้าเปิดเวทีสาธารณะให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นโครงการรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร สายสุขุมวิท ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ มั่นใจโครงการนี้ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาการจราจรพื้นที่เข้า-ออกเมืองได้เป็นอย่างดี
เมื่อวานนี้ (23 มิถุนายน 2548 เวลา 08.00 น.) ที่ศาลาประชาคม จ. สมุทรปราการ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายโดยรวมสายสีเขียว สายสุขุมวิท ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ โดยมีนายชิตชนก เขมาวุฒานนท์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การสัมมนา
โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายโดยรวม (รถไฟฟ้ากทม.) เป็นโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบทั้งในทางตรงทางอ้อม และผลดีผลเสียเมื่อโครงการเกิดขึ้น จึงได้มีการจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามแนวสายทางที่จะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้ากทม.ในอนาคต
โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายโดยรวมสายสีเขียว สายสุขุมวิท ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ มีระยะทาง 10 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางยกระดับ มีเส้นทางตามแนวเกาะกลางถนนสุขุมวิท จนถึงบริเวณสิ้นสุดโครงการบริเวณซอยเทศบาลบางปู ซอย 55 มีสถานีทั้งหมด 7 สถานี เริ่มที่สถานีช้างสามเศียร สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีศาลากลาง สถานี ศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และปลายทางสถานีเคหะ-สมุทรปราการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะสร้างต่อจากส่วนต่อขยายอ่อนนุช — สำโรง ระยะทาง 8.9 กิโลเมตร ปัจจุบันศึกษาความเหมาะสมเรียบร้อยแล้วเหลือเพียงการก่อสร้าง ซึ่งได้เปิดซองประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2548
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2548 กทม.ได้จัดสัมมนาในสายทางส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงแยกตากสิน-เพชรเกษม ที่มหาวิทยาลัยสยาม มีประชาชนสนใจเข้าร่วมงานกว่า 500 คน และจากการประมวลความคิดเห็น มีประชาชนกว่าร้อยละ 90 สนับสนุนให้มีการสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ากทม.
นอกจากการสัมมนารับฟังความคิดเห็นในสายสุขุมวิท ช่วงสำโรง-สมุทรปราการแล้วยังมีสายทางที่กำลังศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ผลสรุปในการดำเนินการโครงการ ประกอบด้วยส่วนต่อขยายอีก 2 เส้นทาง คือ 1. ส่วนต่อขยายสายพหลโยธิน ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ (ระยะทาง 11.9 กิโลเมตร) และช่วงสะพานใหม่-ลำลูกกา (ระยะทาง 12.2 กิโลเมตร) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ที่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 2. ส่วนต่อขยายสายปิ่นเกล้า ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก (ระยะทาง 7.7 กิโลเมตร) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ที่ โรงแรมเดอะ ทวิน ทาวเวอร์
ดร.สามารถ กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ ถือเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่และมี ส่วนเกี่ยวข้องได้แสดงการมีส่วนร่วม เพื่อนำความคิดเห็นไปเป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดความสำเร็จในโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ ที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติ ซึ่งกรุงเทพมหานครยินดีรับฟัง ข้อเสนอแนะของพี่น้องชาวสมุทรปราการทุกประการ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจะพิจารณานำไปปรับใช้ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นหลัก ในการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ประหยัดเวลาการเดินทาง เป็นต้น
ปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้าสิ้นสุดที่สถานีอ่อนนุช ต้องการขยายมาที่สำโรงระยะทาง 8.9 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะขยายจากสำโรงไปยังสมุทรปราการ ระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยในส่วนแรก 8.9 กม. ได้ผู้รับเหมาแล้ว ขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำเรื่องขอปรับเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ก.พ.43 จากการให้เอกชนลงทุน 100% เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน เนื่องจากการให้เอกชนลงทุนทั้ง 100% เป็นไปไม่ได้ ซึ่งตนมั่นใจว่าหากได้รับอนุมัติให้ขยายต่อเส้นทาง ในลักษณะการลงทุนร่วมกัน เส้นทางจากสะพานตากสินไปยังฝั่งธนบุรี จะแล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี และสายอ่อนนุช — สำโรง จะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หลังจากนั้นจึงจะสามารถต่อขยายเส้นทาง สำโรง — สมุทรปราการได้ นอกจากนี้ยังต้องการให้รัฐบาลเห็นชอบผลการประกวดราคา และสนับสนุนเงินอุดหนุนรัฐบาล 50% ใน 2 เส้นทาง คือ สายสีลม และสายสุขุมวิท คิดเป็นเงิน 4,751 ล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลเห็นชอบในข้อเสนอ กทม.จะสามารถดำเนินการก่อสร้างเพื่อขยายเส้นทางได้ทันที--จบ--