สธ. ขับเคลื่อน “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” แนะ ล้างพิษทางจิต แล้วคิดบวก

ข่าวทั่วไป Monday February 7, 2011 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--สธ. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานโครงการรณรงค์ “เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย สมุนไพรล้างพิษ กายจิตผ่องใส” ครั้งที่ 3 ณ หอประชุมอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และให้สัมภาษณ์ว่า โครงการฯ นี้ เป็นความมุ่งหมายที่จะให้เกษตรกรและผู้บริโภค ปลอดโรคและปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในพืชผักผลไม้และในพืชไร่พืชสวน อันเนื่องมาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยที่มีสูงมาก ซึ่งพบว่าเกษตรกรไทยกว่าร้อยละ 30 มีปริมาณสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอยู่ในกระแสเลือด และกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัย จึงได้บูรณาการการทำงานของ 4 กรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสุขภาพจิต เชื่อมต่องานกันในการคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เพื่อการจัดบริการดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตแก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป รวมทั้ง พัฒนาสิทธิประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทั่วประเทศได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพ อย่างน้อย 840,000คนและจะดำเนินการครอบคลุมเกษตรกรทั้ง 14.1 ล้านคน ในปีต่อๆ ไป ภายใน 5 ปีหลังจากนี้ โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 840 แห่ง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข 8,400 คนร่วมกันค้นหาเกษตรกรที่มีความเสี่ยงและตรวจเลือดเพื่อหาสารพิษตกค้าง หากพบว่า เกษตรกรมีสารพิษในเลือดอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัยจะรักษาด้วยการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน รวมทั้งให้คำแนะนำการป้องกันตัวจากสารพิษและดูแลด้านสุขภาพจิต โดยจะเริ่ม คัดกรองทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป รมช.สธ. กล่าวต่อว่า ประชากรจังหวัดเพชรบูรณ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 48.02ของพื้นที่จังหวัด และมีครัวเรือนเกษตรกร จำนวน 78,726 ครัวเรือน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะได้รับสารพิษและอันตรายจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังส่งผลไปถึงผู้บริโภคที่จะได้รับสารพิษหรือความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการบริโภคพืชผักผลไม้ที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ซึ่งนอกจากความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้ว ความเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียดจากการประกอบอาชีพ ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตไม่ได้ตามที่คาดหวังจนทำให้เป็นหนี้เป็นสินทั้งในและนอกระบบ ยังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือพยายามฆ่าตัวตายได้ ซึ่งก็พบว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่จังหวัดเพชรบูรณ์มิได้นิ่งนอนใจ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จค่อนข้างสูงแต่ปัจจุบันพบว่าเริ่มลดลง ทั้งนี้ เห็นได้จากอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 — 2553) อยู่ที่ 9.23 , 7.33 และ 5.71 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ และจากการวิเคราะอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากข้อมูลใบมรณะบัตรของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พบว่า เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าเพศหญิง คิดเป็น ร้อยละ 57.23 ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อายุ 20-29 ปี ร้อยละ 26.40 รองลงมา 30-39 ปี ร้อยละ 15.78 และ อายุ 10-19 ปี ร้อยละ 10.94 ตามลำดับ เป็นอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 26.85 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 20.65 และเกษตรกร ร้อยละ 19.76 ทั้งนี้ สาเหตุของการฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่เกิดจากการน้อยใจ ทะเลาะกับคนใกล้ชิด รองลงมา คือ โรคภัย ชราภาพ และปัญหาทางอารมณ์ สังคม เศรษฐกิจ รวมทั้ง การมีพฤติกรรมติดสุรา ติดบุหรี่ และติดสารเสพติด รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลจากพิษทางใจ ซึ่งได้แก่ ความโกรธ เพราะทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ คนอื่นไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ถูกดูถูก ถูกว่าให้อาย ไม่ได้รับความเป็นธรรม ความเครียด เพราะถูกกดดัน ถูกเร่งรัดหนี้สิน ปัญหาท่วมท้น ไม่สามารถแก้ไขได้ กลัวจะเกิดเหตุร้าย และความเศร้า เพราะสูญเสียทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ บุคคลอันเป็นที่รัก หรือคนใกล้ชิด รู้สึกต่ำต้อย มองว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรดี ทั้งนี้ ถ้าไม่ล้างพิษทางใจ อาจมีอาการปวดหัว ปวดเมื่อย ใจสั่น แน่นหน้าอก หงุดหงิด ฉุนเฉียว โกรธง่าย ไม่มีเหตุผล เบื่อหน่าย ท้อแท้ เซ็ง ไม่อยากทำอะไร บางครั้งคิดอยากตาย กินไม่ได้นอนไม่หลับ กินเหล้าเมายา ไม่อยากพูดกับใคร ฟุ้งซ่าน ขี้ลืม สมองตีบตัน คิดอะไรไม่ออก มองโลกในแง่ร้าย ทำงานไม่ได้ดีเหมือนเดิม ทะเลาะเบาะแว้งกับคนใกล้ชิด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องล้างพิษทางใจให้ออก โดย 1. หยุดรับพิษ โดยจัดการกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความโกรธ ความเครียดและความเศร้าอย่างสมเหตุสมผลหรือหากจัดการไม่ได้ให้หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์หรือคนที่ทำให้โกรธ 2.ระบายพิษ โดยเลือกวิธีที่เหมาะสมกับพิษแต่ละอย่าง ได้แก่ พิษแห่งความโกรธ โดยทำงานหรือกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ๆ หรือ พูดระบายเรื่องที่ทำให้โกรธ ลดความคาดหวังต่อตนเองและผู้อื่น ให้อภัย พิษแห่งความเครียด โดยการฝึกหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ หลายๆ ครั้ง และพิษแห่งความเศร้า โดย ให้เวลากับความเสียใจและสร้าง ความเข้มแข็งทางจิตใจโดยคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บุคคลหรือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ คิดถึงคนที่เรารัก หรือคนที่เขาต้องการเรา ให้เวลาเป็นเครื่องรักษาใจ และ 3. คิดทางบวก เพื่อช่วยสร้างความหวัง สร้างกำลังใจ ทำให้เห็นทางออกในการแก้ปัญหา ซึ่งเมื่อล้างพิษทางใจได้แล้ว กายจิตย่อมผ่องใสตามมาแน่นอน รมช.สธ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ