กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ช่อง 3
บทประพันธ์และบทโทรทัศน์โดย แรเงา
กำกับการแสดงโดย นพพร วาทิน
พุทธศักราช 2308 พระเจ้ากรุงอังวะโปรดเกล้าฯให้เนเมียวสีหบดี และมังมหานรธา ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยเนเมียวสีหบดียกทัพมาทางเหนือ ส่วนมังมหานรธายกทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา กองทัพทั้งสองจะเข้าตีพร้อมกัน เพลานั้น พระยาตาก นามเดิมว่าสิน ได้เป็นเจ้าเมืองตาก นำทหารคู่ใจอันประกอบด้วย ทองดี สิงห์ ก้อน ยอด เมฆ บุญเกิด และไพร่พลนำทัพออกตีต้านมิให้ทัพของเนเมียวสีหบดีผ่านไปยังกรุงศรีอยุธยาได้ แต่มิอาจต้านทัพอันมีกำลังไพร่พลมหาศาลได้ พระยาตากจึงตัดสินใจผ่อนครัวลงมายังกรุงศรีอยุธยา เพื่อร่วมกับขุนทหารอื่นๆ รักษากรุงศรีอยุธยามิให้ตกเป็นเมืองขึ้นแก่ศัตรู
เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา พระยาตากกลับขัดแย้งกับออกญากลาโหมและขุนนางบางส่วนที่ยังเชื่อว่าน้ำเหนือจะทำให้ทัพอังวะพ่ายแพ้และยกทัพกลับไปเอง พระยาตากนำขุนทหารคู่ใจออกปล้นค่าย เป็นที่คร้ามเกรงแก่ทัพอังวะเป็นอย่างยิ่ง เมื่อน้ำเหนือมาถึง ทัพอังวะก็เร่งต่อเรือเพื่อนำทัพโจมตีกรุงศรีอยุธยา ทำหอรบ ใช้วัดเป็นค่ายทัพ ยิงปืนใหญ่จากค่ายต่างๆเข้าใส่กรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาตากได้รับคำสั่งให้นำทัพออกสู้รบกับกองทัพอังวะที่สมรภูมิวัดป่าแก้ว แต่มิอาจสู้ได้ จึงนำทหารของตนไปตั้งค่ายที่วัดพิชัย กองทัพอังวะล้อมค่ายวัดพิชัยไว้อย่างแน่นหนา พระยาตากตรองแล้วเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงตกเป็นของอังวะแน่ จึงนำทหารคู่ใจพร้อมไพร่พลจำนวน 500 นาย ตีฝ่าวงล้อมของทหารอังวะหนีไปทางเมืองจันทบูรณ์เพื่อรวบรวมไพร่พล แล้วกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ในครั้งนี้พระองค์ได้พบสหายเก่าคือนายทองด้วง และบุญมา ผู้น้องชาย ทั้งสองได้เข้าร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระองค์
ตลอดการเดินทางไปสู่จันทบูรณ์ เจ้าเมืองต่างๆพากันอ่อนน้อมและยอมเป็นพวก พระยาตากสถาปนาตนเป็นกษัตริย์ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจจากไพร่พลและราษฎรทั้งหลาย และเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับให้พระองค์เป็นผู้นำ ครั้นถึงเมืองจันทบูรณ์ จึงทราบว่าพระยาจันทบูรณ์ยอมเข้าเป็นพวกกับอังวะแล้ว พระองค์จึงให้กุศโลบายทุบหม้อข้าวหม้อแกง ปลุกระดมพลังขุนทหารให้พร้อมกันเข้าตีจันทบูรณ์ได้สำเร็จ แล้วใช้จันทบูรณ์เป็นที่บัญชาการศึก ทรงเร่งต่อเรือเพื่อนำทัพเรือเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าตากทรงนำทหารเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นของอังวะได้สำเร็จ จับสุกี้พระนายกอง นายค่าย สำเร็จโทษ หลังจากนั้นทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียหายเกินกว่าจะบูรณะ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ขับไล่อังวะออกพ้นแผ่นดิน
แต่ยังมีคนไทยกลุ่มต่างๆที่ยังไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ รวมตัวกันเป็นชุมนุมต่างๆ 5 ชุมนุม พระองค์พร้อมขุนทหาร ทองด้วง และบุญมา ได้ร่วมกันต่อตีชุมนุมต่างๆ จนสำเร็จราบคาบ บ้านเมืองจึงกลับเข้าสู่ความสงบสุขอีกครั้ง
ตากสินมหาราช เป็นละครที่เสนอให้เห็นถึงความรักชาติ และยอมสละชีพเพื่อชาติ ชี้ให้เห็นถึงความสามัคคีเท่านั้นที่จะทำให้ชาติคงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี และเป็นละครเทิดพระเกียรติในพระวีรภาพแห่งความกล้าหาญของพระเจ้าตากสิน ผู้ได้รับสมัญญาว่า เป็น “มหาราช” ในกาลต่อมา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net