กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--ส.อ.ท.
วันนี้ (8 พฤษภาคม) นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 6 โครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (ส.อ.ท.) - SMEs Project เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับทราบรายละเอียดของแต่ละโครงการ พร้อมเปิดรับสมัคร ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (ส.อ.ท.) - SMEs Project เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในการที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยให้มีความแข็งแกร่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ในรูปของแบบของการเป็นพันธมิตรระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยครั้งนี้ได้มอบหมายให้ สสว. ดำเนินการร่วมกับ ส.อ.ท. จำนวน 6 โครงการหลัก ได้แก่ 1. โครงการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรม (Role Model ของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์และอุตสาหกรรมยาง) 2. โครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs 5 ภาค และรายสาขา 3. โครงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) 4. โครงการสนับสนุนการปรับปรุง/ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักร (Machine Fund) 5. โครงการส่งเสริมเครือข่ายระบบจัดส่งสินค้าและพัสดุ และ 6.โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ระดับจังหวัดและระดับ ภูมิภาค ด้วยงบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้น 800 ล้านบาท
ด้านนางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะและศักย-ภาพด้านบริหารจัดการของผู้ประกอบการในกลุ่มเป้าหมาย สำหรับสร้างเป็นแบบอย่างที่ดีของการส่งเสริมเอสเอ็มอีในระดับอุตสาหกรรม และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ สสว. ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงาน ติดตามผลงาน ประเมินผลตามกฎเกณฑ์ต่างๆที่วางไว้ รวมทั้งดูแลงบประมาณในการดำเนินโครงการ ส่วน ส.อ.ท. ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการโครงการ ดำเนินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตามระยะเวลาที่กำหนด
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. กำลังอยู่ในช่วงดำเนินงานต่างๆ ตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งมีความคืบหน้าไปได้กว่า 40% เช่น โครงการยกระดับมาตรฐานสิ่งพิมพ์ ได้เริ่มจัดประกวดสิ่งพิมพ์ แห่งชาติ รับสมัครแล้ว เริ่มมีผู้ส่งผลงานเข้ามาแล้ว โครงการยกระดับมาตรฐานยาง ได้มอบทุนวิจัยผ่าน สกว. ไปแล้ว โครงการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะ SMEs 5 ภูมิภาค ได้เริ่มจัดตั้งศูนย์ขึ้นแล้ว และเริ่มรับสมัคร คัดเลือกผู้ประกอบการเข้าดำเนินการเป็นศูนย์ ภาคเหนือ (จ. ตาก) ด้านอัญมณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ. ชัยภูมิ) ด้านสิ่งทอ ภาคกลาง (กทม.) ด้านเครื่องเคลือบดินเผาและเกษตรแปรรูป ภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี) ด้านอัญมณี และภาคใต้ (จ.นครศรีธรรมราช) ด้านไม้ยางพารา
โครงการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจการพิมพ์ขึ้น ภายในงาน Pack Print International 2007 เมื่อวันที่ 26-29 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมอุตสาห-กรรมการพิมพ์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งระบบ โดยมีบริษัทจำหน่ายสินค้าต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมออกบูธและสนใจจับคู่ธุรกิจเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2550 จะมีการจัดกิจกรรม Business Matching Day ขึ้น ณ ห้องบอลรูม ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกลุ่ม อุตสาหกรรม เป้าหมาย คือ หนัง & ผลิตภัณฑ์หนัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ อัญมณี & เครื่องประดับ และ รองเท้า ซึ่งภายในงานจะมีส่วนของการ Showcase, Matching Zone และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ ผู้ประกอบการได้เจรจากับซัพพลายเออร์รายใหม่ๆ พร้อมชมการนำเสนอสินค้าและบริการจากผู้ผลิตโดยตรง คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ส่วนโครงการ Machine Fund สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 3 % ในระยะเวลา 5 ปี มีผู้สนใจเริ่มสมัครเข้ามาแล้ว
โครงการส่งเสริมเครือข่ายระบบจัดส่งสินค้าและพัสดุ มีการจัดฝึกอบรมสัมมนาและให้คำปรึกษาด้านโลจิสติกส์มากมายหลายหลักสูตร รวมทั้งการพัฒนารหัสสินค้าบาร์โค้ด
โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ประกอบด้วย โครงการเติมเต็มขีดความสามารถ ครอบคลุม 37 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 7 กลุ่มจังหวัด มีการอบรมเรื่อง Q-Mark และหลักสูตรที่มีประโยชน์แก่ธุรกิจ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ โครงการศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ นำองค์ความรู้มาพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสากล ได้เริ่มการระดมสมองสำหรับ 2 อุตสาหกรรมหลัก และโครงการพัฒนาคุณภาพหนังดิบภายในประเทศ กับการพัฒนาผู้ประสานงานพัฒนาคลัสเตอร์ ได้มีการรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วม โครงการ และเริ่มฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
"โครงการต่างๆ เหล่านี้ เป็นโครงการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs โดยรวม จะเป็นพลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีศักยภาพ และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตน ได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ซึ่งหลังจากการเปิดตัวโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับทราบข้อมูล รายละเอียดของแต่ละโครงการแล้ว ส.อ.ท.ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละโครงการเพื่อตอบคำถาม และรับสมัครผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ อีกด้วย" ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว