กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--
จากการเก็บผลสถิติล่าสุดพบว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการตายอันดับที่หนึ่งทั้งในผู้ป่วยเพศชายและเพศหญิง สาเหตุเนื่องจากว่าอาการของมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมีอาการค่อนข้างน้อยและไม่จำเพาะเจาะจงจึงทำให้เกิดมีความล่าช้าในการวินิจฉัยโรคดังนั้นส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะตรวจพบเมื่อมะเร็งมีการกระจาย นอกจากนั้นผู้ป่วยที่พบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดแล้วยังอาจจะมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายอยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจอยู่ในปอดส่วนอื่น
ยิ่งท่านรู้เรื่องมะเร็งปอดมากแค่ไหน ท่านยิ่งสามารถรับมือกับมัน และเข้าใจวิธีการดูแลรักษา ตัวเองเมื่อต้องเผชิญกับมะเร็งปอดได้ดียิ่งขึ้น โดยอาจสอบถามจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงแนวทางการรักษาของท่านว่ามีวิธีใดบ้างที่มีประสิทธิภาพ และมีผลข้างเคียงน้อย หรือท่านอาจค้นคว้าจากหนังสือ และเว็บไซต์ที่ให้บริการความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งต่างๆ ที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามท่านอาจต้องนำข้อมูลที่ได้มาปรึกษาแพทย์ถึงความถูกต้องของข้อมูลด้วยเช่นกัน
สมัยนี้การตรวจและรักษามะเร็งปอดระยะต้นสามารถทำได้ในคราวเดียวกัน แถมไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่โตเหมือนในอดีตที่ผ่านมา โดยแนวคิดการรักษาแบบ Minimal Invasive Surgery ที่กำลังอินเทรนด์ในปัจจุบัน ได้พัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ให้สามารถทำการตรวจและรักษาโรคต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการตรวจมะเร็งปอด โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือที่เรียกว่า Endo-Bronchial Ultrasound หรือ E-BUS เทคโนโลยีล่าสุดของการตรวจและรักษาโรคมะเร็งปอด เป็นการผสมผสานระหว่างเครื่องมือส่องกล้องและการทำอัลตราซาวนด์ที่เพิ่มความแม่นยำในการตรวจหาเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองภายในทรวงอกที่ให้ผลแม่นยำสูงถึง 95%
เครื่องมือตัวนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติภายในหลอดลมได้อย่างชัดเจน โดยการสอดสายกล้องเข้าไปทางหลอดลมบริเวณกลางช่องอก กล้องอัลตราซาวนด์ที่ติดอยู่ปลายสายจะฉายภาพภายในและภายนอกของหลอดลมให้แพทย์เห็นทางจอมอนิเตอร์ หากพบก้อนเนื้อหรือต่อมน้ำเหลืองที่ผิดปกติ แพทย์ก็จะใช้เข็มเล็กๆที่ติดอยู่ปลายกล้องเจาะผ่านผนังหลอดลมเพื่อดูดเนื้อเยื่อหรือตัดก้อนเนื้อผิดปกตินั้นออกมา เป็นการตรวจวินิจฉัยและทำการผ่าตัดในคราวเดียวกัน
การตรวจและรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง นอกจากไม่ต้องลงทุนผ่าตัดเปิดทรวงอกแล้ว แผลที่เจาะผ่านเนื้อเยื่อขณะทำการส่องกล้องยังมีขนาดเล็กมาก ทำให้เจ็บปวดและเสียเลือดไม่มาก จึงฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องนอนพักรักษาตัวนาน ตรวจรักษาเสร็จสามารถกลับบ้านหรือไปทำงานต่อได้เลย จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลงได้มาก เพียงแต่คุณจะต้องมาตรวจเช็คสุขภาพปอดของคุณตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาโดยวิธีนี้จะทำได้ในกรณีที่พบความผิดปกติของมะเร็งในระยะต้นเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมี การใช้ Autoflourescence bronchoscopy( AFB) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ฉายแสง fluorescence ไปที่ทางเดินหายใจเพื่อตรวจค้นเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้น (microinvasive preinvasive lesions in the airways) เซลล์มะเร็งในระยะเริ่มต้นนั้นมีการตอบสนองต่อAFB ที่ต่างไปจากการใช้กล้อง WLB (White light bronchoscopy เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้อย่างแพร่หลาย แต่มีข้อจำกัดในการใช้วินิจฉัยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น)
เมื่อเปรียบเทียบ Sensitivity ระหว่าง AFB กับWLB พบว่า ของ AFB+WLB มี Sensitivityสูงถึง 73% และ WLB มีSensitivity เพียง 48% ดังนั้นการใช้AFB ควบคู่ไปกับWLB จึงมีประโยชน์ในการค้นพบและวินิจฉัยมะเร็งในระยะเริ่มต้นซึ่งมีความสำคัญในการวางแผนการรักษาในระยะต่อไป นอกเหนือจากการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นแล้วยังสามารถให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและได้ผล ควบคู่ไปกับการใช้ electrocautery
ผู้ที่ควรได้รับการตรวจด้วย Autofluorescence bronchoscopy( AFB)
1. ผู้ที่สูบบุหรี่
2. Passive Smoker ซึ่ง ได้แก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับคนที่สูบบุหรี่และสูดดมควันบุหรี่เข้าไป
3. ประวัติสมาชิกนครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
4. ทำงานเกี่ยวกับสาร Asbestos เช่นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับวัสดุทนไฟ,หลังคากันความร้อน,ฉนวน,ทำผ้าเบรค,ครัชรถยนต์
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สว่าง แสงหิรัญวัฒนา
http://www.samitivejhospitals.com/DoctorProfile/อายุรกรรม_11920500/th
หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท
Diplomate Thai Board of Internal Medicine Fellow in Pulmonary Medicine Fellow in Pulmonary & Critical Care Medicine,Rush-Presbyterian,St.Luke Hospital, Chicago,lllinois,U.S.A.
Master of Management,SASIN