กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) มอบรางวัลศิลปินแห่งชาติ ปี 2553 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) แก่ “นายควน ทวนยก” ผู้เชี่ยวชาญพิเศษและวิทยากรสอนดนตรีพื้นฐาน ด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนรา ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยการมอบรางวัลอันทรงเกียรติดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
นายควน ทวนยก กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการยกย่องในครั้งนี้ โดยจะขอทำงานด้านการสืบสานศิลปะพื้นบ้านต่อไป และแผนงานที่จะทำต่อไปคือ การตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านดนตรีพื้นบ้าน โดยในศูนย์แห่งนี้จะมีการแบ่งศิลปะพื้นบ้านออกเป็น 5 แขนง ได้แก่ หนังตะลุง มโนราห์ เครื่องดนตรีพื้นบ้าน และการร้อยลูกปัดเพื่อทำเครื่องแต่งมโนราห์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ และร่วมกันอนุรักษ์สิ่งดี ๆ ของท้องถิ่นไว้ต่อไป
ผลงานของ นายควน ทวนยก ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนรา ที่มีการสร้างสรรค์เพลงขึ้นใหม่กว่า 50 เพลง โดยเฉพาะเพลงในชุดระบำนาฏยรังสรรค์ ของโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ไม่เพียงเท่านั้นเขาสร้างเทคนิควิธีการขึ้นปี่ที่มีสำเนียงไพเราะ ซึ่งมีคุณค่าต่อศิลปะด้านการแสดงพื้นบ้าน ทั้งโนราและหนังตะลุง จนนายปี่ด้วยกันก็ยกย่องให้เป็นครูปี่ที่มีความหวาน แม้แต่ศิลปินแห่งชาติอย่างโนรายก ชูบัว ยังเคยเอ่ยปากว่า “ได้ยินเสียงปี่ของควนแล้วใจมันรึบ ๆ อยากจะรำจัง”
เทคนิคและวิธีการสร้างสรรค์ผลงานประเภทเพลงประกอบระบำของ นายควนทวนยก ใช้วิธีการบรรจุทำนองเพลงตามลักษณะของท่ารำ โดยยึดความสอดคล้องของทำนองเพลงและท่ารำเป็นหลัก ส่วนทำนองเพลงที่นำมาใช้นั้น คัดเลือกมาจากทำนองเพลงเก่าที่ใช้ประกอบการแสดงหนังตะลุงและโนราในอดีต ซึ่งในปัจจุบันไม่ค่อยมีผู้นำมาบรรเลงแล้ว การนำทำนองเพลงเก่ามาใช้บรรเลงประกอบระบำ จึงเป็นการสืบทอดเพลงดังกล่าวไม่ให้สูญหายไป นอกจากนั้น ยังได้คัดสรรทำนองเพลงที่มีสำเนียงแขก เพื่อแสดงออกถึงความเป็นดนตรีท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้บทเพลงต่าง ๆ เหล่านั้นมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมพุทธและมุสลิมผสมผสานอยู่ด้วยกัน
ปัจจุบัน นายควน ทวนยก ปฏิบัติงานอยู่ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้และเป็นศิลปินร่วมแสดงกับศิลปินพื้นบ้านทำการแสดงโนรา หนังตะลุง และปี่มวยไทย ครูควน ไม่เคยละทิ้งงานที่ตนรัก และไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีพื้นบ้านเลย โดยได้ร่วมกับโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร และโปรแกรมวิชาดนตรีของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จัดแสดงผลงาน “แลโด้โหมฺศิลปกรรม” ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ.2542 จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ครูควนยังคงใช้เวลาที่ว่างเขียนบทหนังตะลุงเพิ่มเติม เพื่อใช้กับการฝึกศิษย์ และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างสรรค์บทเพลงเฉพาะกิจ เฉพาะชุดการแสดงของโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทั้งที่ไม่มีความรู้ภาคทฤษฎีดนตรีแม้แต่น้อย
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2498 เริ่มเป่าปี่ออกโรงเป็นนายปี่มืออาชีพครั้งแรกให้หนังเพียร เกาะสมุย
พ.ศ.2501 เป็นนายปี่หนังเจือ พานยาว
พ.ศ.2505 เป็นนายปี่หนังประคองศิลป์ (ประคอง ผลบุญ)
พ.ศ.2509 บรรจุเป็นพนักงานสำรวจทางของศูนย์เครื่องมือกล จ.สงขลา รับจ้าง เป็นนายปี่ให้คณะหนังทั่วไปโดยไม่สังกัดคณะเหมือนก่อน และในปีเดียวกันได้ เป่าปี่โนราให้กับคณะโนราเติม
พ.ศ.2516-2553 บรรจุเข้ารับราชการตำแหน่งคนสวนของวิทยาลัยครูสงขลา และเป็นนายปี่ให้คณะโนราวิทยาลัยครูสงขลา และนายปี่หนังตะลุง สลับกันจนเกษียณอายุราชการ
พ.ศ.2526 เป็นครูสอนเป่าปี่ให้นักศึกษาวิชาเอกดนตรี วิทยาลัยครูสงขลา จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ.2529 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒสงขลา โดย รศ.อุดม หนูทอง เชิญไปเป็นวิทยากรสอนการเป่าปี่
พ.ศ. 2529 เป็นนายปี่ให้คณะโนราวิทยาลัยครูสงขลา และเดินทางไปเป่าปี่ที่ต่างประเทศเป็นครั้งแรก คือประเทศมาเลเซีย
พ.ศ.2545 ลูกจ้างชั่วคราว บุคลากรด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ควบคู่ไปกับการเป็นนักดนตรีอาชีพ
พ.ศ. 2547 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงลา เปิดศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย โดยมี ครูควน ทวนยก เป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและกำกับการสอนจนถึงปัจจุบัน
รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ.2518 ได้รับพระราชทานเหรียญสมเด็จย่า จากพระหัตถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ต.ตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา)
พ.ศ.2526 ได้รับเชิญเป็นครูสอนการเป่าปี่หนังตะลุง-โนรา แก่นักศึกษารายวิชาดนตรีพื้นบ้านภาคใต้เป็นครั้งแรก จากภาควิชาดนตรี วิทยาลัยครูสงขลา
พ.ศ.2542 โล่ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา
พ.ศ.2543 ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ โปรแกรมวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
พ.ศ.2551 ประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ “พ่อครูปี่ภาคใต้” บุคคลผู้สืบสานมรดกทางดนตรีภาคใต้