กรุงเทพฯ--8 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการป้องกันและระงับไฟป่า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี พ.ศ. 2554 ณ สำนักสงฆ์มณีตาสังข์ ในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานป้องกันและระงับไฟป่า
ทั้งในระยะก่อน ขณะ และหลังเกิดภัย ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างปลอดภัยหากเกิดไฟป่า
นางสาวงามพิศ แก้วประดิษฐ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชิงเทรา เปิดเผยว่าสภาพอากาศของประเทศไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี จะแห้งแล้งและมีลมกระโชกแรง ประกอบกับผิวดินมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากสภาวะโลกร้อน จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่ตั้งของเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งมักเกิดไฟป่าเป็นประจำทุกปี ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่า สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการป้องกันและระงับไฟป่า จังหวัดฉะเชิงเทรา ประจำปี พ.ศ. 2554 ในวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ณ สำนักสงฆ์มณีตาสังข์ บ้านสามพราน หมู่ที่ 25(หลุมตาสังข์) ตำบลคลองตระเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินการเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและระงับไฟป่า การอพยพหนีไฟแก่เครือข่ายชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย และการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง
โดยจำลองสถานการณ์การเกิดไฟป่าบริเวณสำนักสงฆ์มณีตาสังข์ การประสานแจ้งขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามขั้นตอนที่กำหนด ซึ่งการฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้เป็นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยปฏิบัติหลักและหน่วยสนับสนุนให้ได้ซักซ้อมการประสานการปฏิบัติงานทั้งในระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมืออุปกรณ์ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สามารถปฏิบัติงานตามแผนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในการป้องกันและระงับไฟป่าในเบื้องต้น อันจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ระดับหนึ่ง