กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--สสวท.
จากการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียน ครั้งที่ 20 (วทร. 20) ในหัวข้อ “พัฒนาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในโรงเรียน อย่างยั่งยืน : ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เมื่อวันที่ 11-13 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง พัฒนาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยผู้ร่วมเสวนา เป็นนักการศึกษาจากประเทศไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลี ประกอบด้วย ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. Dr.Yeap Ban Har ประเทศสิงคโปร์ Dr.Rie Atagi ประเทศญี่ปุ่น และคุณ Eun-Seung Lee ประเทศเกาหลี
เราลองมาดูกันว่า แต่ละประเทศ มีความเป็นมาและความเป็นไปในการพัมนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างไร
Dr. Rie Atagi ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ผลการประเมิน TIMSS-PISA มีผลต่อนโยบายการศึกษา ของญี่ปุ่น โดยพบว่า นักเรียนญี่ปุ่นมีผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการสูง แต่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกัน จำนวนนักเรียนกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่กังวลมาก เรียกกันว่าเป็นปรากฏการณ์ PISA Shock นอกจากนั้นยังพบว่านักเรียนญี่ปุ่นมีทัศนคติทางลบต่อการเรียนรู้ ขาดความสนใจด้านการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยฐานะทางบ้านมีผลกระทบต่อผลการศึกษาไม่มากนัก ในขณะที่ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ฐานะทางบ้านของนักเรียนมีผลกระทบต่อผลการศึกษาสูง ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือข้อค้นพบที่ว่า ยิ่งครูสอนแบบสืบเสาะหาความรู้มากขึ้น ความสนใจของนักเรียนก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย
การปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ก็คือ เพิ่มชั่วโมงเรียน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อีก 10% โดยปรับลดเวลาเรียนทางด้านอื่นลงไป แม้ประเทศญี่ปุ่นไม่มีปัญหาการขาดแคลนครู พรือปัญหาครูไม่ตรงวุฒิ ก็มีนโยบายพัฒนาครู 3 แนวทาง คือ จัดตั้งสถาบันพัฒนาครู โดยเน้นพัฒนาครูระดับหลังอุดมศึกษา กระตุ้นให้ครูพัฒนาตัวเอง โดยยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแบบตลอดชีวิต เปลี่ยนเป็นต่ออายุทุก 10 ปี และปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูก่อนประจำการ
ความท้าทายสำหรับครูญี่ปุ่น ก็คือ ครูมีเวลาจำกัดในการสอน นักเรียนมุ่งเน้นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงไม่มีเวลาทดลองปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์
คุณ Eun-Seung Lee ประเทศเกาหลีใต้ ได้เผยถึงความลับของความสำเร็จในการจัดการศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ ก็คือการให้ความสำคัญกับการศึกษา เพราะหลังสงครามเกาหลี ทั้งประเทศเกิดความสูญเสีย การศึกษาจึงเป็นเพียงความหวังเดียวที่เหลืออยู่ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ จากนั้นอีก 60 ปี เศรษฐกิจของเกาหลีใต้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงมองว่าทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศเกาหลี
ประเด็นที่ทำให้เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จ ก็คือสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเป็นระบบดีมาก อีกทั้งระบบการศึกษายังสอดคล้องกับประเด็นที่ TIMSS-PISA ประเมิน ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือนักเรียนแต่ละคนทุ่มเทให้กับการเรียนมาก
จากผลการประเมิน TIMSS-PISA แม้ว่าประเทศเกาหลีใต้จะมีผลการประเมิน TIMSS-PISA สูง แต่ก็ยังมุ่งพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา (Problem Solving) มากขึ้น เปิดกว้างทางการศึกษา ปรับระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น วัดประเมินผลโดยเน้นการปฏิบัติจริง และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนรู้ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญ ทั้งพ่อแม่ ผู้เรียน ตลอดจนภาครัฐและเอกชน
ให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างทุ่มเททั้งระบบ จึงเป็นแรงผลักดันให้การจัดการศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างสูง
Dr. Yeap Ban Har ประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์นับว่าแทบไม่มีต้นทุนทรัพยากรทางธรรมชาติเลย ตอนเริ่มเป็นประเทศเมื่อปี ค.ศ.1965 สภาพเศรษฐกิจ การศึกษาของสิงคโปร์อยู่ในระดับที่ย่ำแย่ แต่สิงคโปร์ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ยกระดับประเทศขึ้นมา เคล็ดลับสั้น ๆ นั้นก็คือ “การสอนให้คิด” โดยสอดแทรกเข้าไปในวิชาต่าง ๆ ทุก ๆ วิชา และนำไปสู่พื้นฐานการคิดวิเคราะห์ในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ ประสบความสำเร็จ ก็คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของสิงคโปร์ เน้นกระบวนการแก้ปัญหาและเน้นการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ การใช้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับครูที่ขาดคุณวุฒิ โดยเฉพาะครูประถมศึกษาที่จำนวนไม่น้อยไม่ได้จบปริญญา สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นจัดทำหนังสือเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งหลายประเทศนำหนังสือเรียนของสิงคโปร์ไปใช้ อีกปัจจัยหนึ่งคือการวัดประเมินผลที่วัดความสามารถทางการคิด
คุณครูชาวสิงคโปร์ต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันต่อองค์ความรู้และเทคโนโลยีตลอดเวลาตามความต้องการของรัฐบาล โดยครูได้รับการสนับสนุนมากจากรัฐ ทั้งครูก่อนประจำการ ครูประจำการ โดยเน้นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และเรียนรู้จากสภาพจริงในชั้นเรียน
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า ประเทศไทยก็มุ่งให้นักเรียนเรียนรู้โดย เน้นการเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ และ กระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ เช่นกัน สำหรับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของไทยอย่างยั่งยืน มีด้วยกัน 4 ปัจจัย อย่างแรกก็คือ หลักสูตรที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มีการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและสะดวกต่อการใช้งาน โดย สสวท. จัดทำเอกสารและสื่อประกอบหลักสูตรที่มีคุณภาพ
มาตรฐานการศึกษา โรงเรียนและครูไทยจะต้องจัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติกำหนดไว้ โดย สสวท. ได้พัฒนามาตรฐานครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี และมาตรฐานครูคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
ในขณะเดียวกัน สสวท. ก็ได้จัดทำมาตรฐานต่าง ๆ เช่น คู่มือวัดผลประเมินผลวิทยาศาสตร์และคู่มือวัดผลประเมินผลคณิตศาสตร์ คู่มือการจัดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คู่มือการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อให้หน่วยงานและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องได้เป็นแนวทางในการพัฒนาสถานศึกษาในด้านต่างๆ ต่อไป
นอกจากนั้น สสวท. ยังได้พัฒนาข้อสอบเพื่อประเมินสมรรถนะครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ใช้วางแผนพัฒนาครูให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2553 และกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาโรงเรียนตามสภาพจริงที่มีความหลากหลาย นโยบายการพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เช่น โรงเรียนที่มีคะแนนสอบ NT ต่ำกว่ามาตรฐาน จะใช้แนวทางพัฒนาทั้งโรงเรียน สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กบางส่วนก็ได้มีการส่งสื่อ เอกสารและชุดอุปกรณ์ไปให้ และมีโครงการเฉพาะสำหรับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนในเขต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น โรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นต้น
ปัจจัยสุดท้ายก็คือ การพัฒนาครู มีการพัฒนาเครือข่ายครูพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ผลักดันครูที่มีศักยภาพสูงให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นอกจากนั้นยังมีการอบรมครูในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากครูในที่ต่างๆ มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น การอบรมครูทางไกล อบรมครูโดยตรง อบรมครูแบบออนไลน์ และยังมีความพยายามในการพัฒนาหลักสูตรครูก่อนประจำการวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยเปลี่ยนเป็นหลักสูตร 4+2 ปี
ในช่วงท้ายของการเสวนา มีการซักถามเกี่ยวกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนแต่ละชาติ สิงคโปร์ใช้ข้อสอบ NT เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ได้สอบเข้าโดยตรง เกาหลีใต้เข้ามหาวิทยาลัยโดยใช้ผล NT ประกอบกับการทำข้อสอบ และการสัมภาษณ์ ญี่ปุ่น การสอบ NT ไม่นับเป็นเกณฑ์ในการเข้ามหาวิทยาลัย
ท้ายสุด มีข้อซักถามเกี่ยวกับภาระงานของครูในประเทศต่างๆ ซึ่งพบว่า ครูญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ หรือ เกาหลีใต้ ต่างก็ต้องแบกรับภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนเยอะแยะมากมายไม่ต่างกัน