กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--สคส.
ในเวทีประชุมระดมความคิด “ยุทธศาสตร์เครือข่ายพัฒนาเยาวชนไทย” ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ธนาคารไทยพาณิชย์ เสถียรธรรมสถาน และองค์กรภาคีทำงานเพื่อเยาวชนอีกหลายหน่วยงาน ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชน ควรใช้กลไกแบบ Networking เพื่อสร้างพลังการพัฒนาเยาวชน ที่เน้นว่า “ใครถนัดอะไร ทำอย่างนั้น” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จ ซึ่งจะทำให้เครือข่ายได้เห็นว่าจะนำความรู้และวิธีการไปพัฒนางานของตนเองได้ในที่สุด
แต่การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของเยาวชนไทย ที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อบ้านเกิดของตัวเอง จะไม่สามารถสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนเหล่านี้ได้ หากขาดเยาวชนที่มี “จิตอาสา” และมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาตัวเองและเรียนรู้กับเครือข่ายเยาวชนทั่วประเทศเพื่อเกิดพลังเยาวชนขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้ได้ ในเวทีนี้มีกลุ่มเยาวชนจากเสถียรธรรมสถานที่ผ่านประสบการณ์ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานเยาวชนได้อย่างน่าสนใจ
“น้องกี” นายพิรัล สาและ เยาวชนจากโครงการเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา Seed of Spirituality (SOS) เป็นตัวแทนเยาวชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าว่า การเข้ามาร่วมกิจกรรม SOS ทำให้ได้เรียนรู้ตัวเองโดยการแลกเปลี่ยนอย่างลึกซึ้งกับเพื่อนต่างศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์และอิสลามและซิกส์
โดยวิธีการเรียนรู้ คือ ใช้พื้นฐานของการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในการถอดความรู้ในกลุ่มเยาวชน เพื่อให้ทุกคนในวงเรียนรู้กล้าที่จะเปิดใจเรียนรู้กับผู้อื่น และเปิดเผยตัวเองกับเพื่อนร่วมกลุ่มและนำประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้เห็นมุมมองความสำเร็จในการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ และเพื่อที่จะนำความรู้เหล่านี้กลับไปทำงานกับพื้นที่และสถาบันการศึกษาเรียนอยู่
“ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เยาวชนยังไม่มีบทบาทในการแสดงออกทางสังคมมากนัก จึงทำให้เด็กในพื้นที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และด้อยโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับสังคม หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับกลุ่มเยาวชนต่างศาสนาแล้ว ทำให้รู้ว่าพื้นฐานของการทำกิจกรรมจิตอาสา และการทำงานเพื่อสังคม ยังแตกต่างกันมากในแต่ละกลุ่ม” น้องกี กล่าวและว่า
“เป้าหมายของการทำงานจิตอาสาแท้จริงแล้ว คือ การช่วยเหลือเยาวชนที่ขาดโอกาสได้มีโอกาสเรียนรู้ แต่บทเรียนที่ได้จากการทำงานในพื้นที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเดินผิดทาง เพราะสนับสนุนพื้นที่ ที่เขามีความพร้อมและได้รับโอกาสในการเรียนรู้อยู่แล้ว ทำให้เยาวชนในพื้นที่อื่นๆขาดโอกาสในการเรียนรู้”
ขณะที่ “น้องฮาร์ท” กรวิศว์ สุริยศรีวรรณ เยาวชนในโครงการธรรมโฆษณ์ธรรมยาตรา เล่าว่า ก่อนจะเข้าร่วม เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่เกเรและไม่สนใจเรียน เอาแต่ใจตัวเองและทำให้ผู้ปกครองต้องทุกข์ใจ
เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยการเดินเท้าเป็นเวลา 24 วัน จากสวนโมกข์ จ.สุราษฎร์ธานี ถึงเสถียรธรรมสถาน จ.กรุงเทพฯ ระยะทาง 750 กิโลเมตรร่วมกับเพื่อนต่างศาสนาช่วยฝึกตัวเองในหลายๆด้าน
เช่น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองได้ เป็นคนที่กล้าเผชิญปัญหามากขึ้น ไม่หนีปัญหาเหมือนก่อน สอนให้เราอดทน สอนความกล้าหาญ การยอมรับตัวเองและคนอื่น กล้าที่จะเสียสละพร้อมกับหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธกับสิ่งไม่ดี ท้ายสุดท้ายสิ่งที่ตัวเองคิดว่ายากและไม่เคยทำมาก่อนคือการบอกรักพ่อกับแม่ แต่ก็ทำให้กล้าที่จะพูดคำว่า “รัก” พ่อกับแม่ และกล้าที่จะเป็นคนดีของเขาได้ในที่สุด
เช่นเดียวกับ “น้องติ่ง” กรทอง กรมสุริยศักดิ์ นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 3มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เดิมมีปัญหาเหมือนวัยรุ่นทั่วไป ไม่เชื่อฟังพ่อ-แม่ ชอบคิดและตัดสินใจเอาเอง และมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก ด้วยความที่ยังเด็กก็ทำให้คิดอะไรที่ไม่รอบครอบ เมื่อมีปัญหาก็ทำให้เรารู้สึกว่าทางออกไม่ได้ ทำให้ซึมเศร้าและทำให้ผู้ปกครองเป็นห่วง
และเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้ที่เสถียรธรรมสถาน ตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยการแนะนำของคุณแม่ ซึ่งก็ได้เข้ามาเรียนรู้ว่าในเสถียรธรรมสถานมีกิจกรรมเพื่อสังคมทำหลากหลายด้าน จากคนที่มีจิตอาสาต่างที่ต่างถิ่น แต่สามารถมารวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างมีความสุข จึงเป็นตัวจุดประกายให้ตัวเองลุกขึ้นจากปัญหาจมอยู่กับมันมานาน ออกมาทำกิจกรรม ซึ่งขณะนั้นเข้ามาอาสาทำบ้านดิน ได้การเรียนรู้ผ่านวิถีชีวิต ทำให้ได้ฝึกเป็นคนรู้จักคิดและเรียนรู้อารมณ์ของตัวเอง ช่วยให้มีความคิดที่รอบครอบมากขึ้น เรียนรู้การเติบโตในสังคม ฝึกฟังคนอื่นมากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดกับชีวิตคน แม้ในช่วงเวลาที่เราทำงานเพื่อสังคม เราก็มีเวลาที่จะดูครอบครัวและรักคนที่บ้านมากขึ้น
“ได้เรียนรู้ว่าชีวิตคน มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไปรู้ถึงสภาพจิตใจของคนที่ติดยาเสพติดและพยายามที่จะเลิกยาให้ได้เป็นปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับชีวิตเขา แต่เขามีความพยายามที่จะก้าวผ่านปัญหานั้น ทำให้เรามองย้อนกลับมาที่ตัวเองและเรียนรู้สร้างกำลังใจขึ้นมา บอกตัวเองเสมอว่าไม่ใช่เราคนเดียวที่มีปัญหา แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง”
ทั้งนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมด ทำให้เราเป็นคนที่ผิดชอบมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากเรื่องเรียนแล้ว ยังได้รับผิดชอบหน้าที่ทำงานเพื่อสังคมและด้วยงานพุทธศาสนาไม่ค่อยมีกลุ่มคนที่ทำงานด้านนี้มาก ทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่เข้ามาทำในจุดนี้และจะทำให้ดีที่สุด น้องติ่ง กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ในทางบวกของกลุ่มเยาวชน การเปิดพื้นที่ดีๆในสังคม ให้เยาวชนได้แสดงออก ได้ช่วยหล่อหลอมสิ่งดีๆให้กับพวกเขา เพราะพวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วัยที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง กล้าคิดกล้าทำ บางครั้งอาจทำให้เดินผิดทิศผิดทาง แต่การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้ร่วมกันช่วยลดความเป็นตัวตนเปิดใจยอมรับและเรียนรู้กับผู้อื่น ช่วยพัฒนาทั้งความคิดและทักษะหลากหลายด้าน และพร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมได้ไม่ยาก
ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) โทร.02-2701350-4 ต่อ 112,114
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net