ส่งออก 7 เดือนยังเกินดุลการค้ากว่า 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดใหม่อย่างอินเดีย ยุโรปตะวันออก ยังเป็นเป็นแม่เหล็ก ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Wednesday August 22, 2007 11:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กระทรวงพาณิชย์
ส่งออก ม.ค.- ก.ค. 83,409.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดใหม่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอัตราสูง เช่น อินเดีย ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา ขณะที่นำเข้าในช่วงเดียวกันมูลค่า 77,693.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าในรอบ 7 เดือนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มูลค่า 5,716.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯแม้เผชิญกับภาวะค่าบาทแข็ ง นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในระยะ 7 เดือน(มกราคม-กรกฎาคม 2550) สรุปได้ดังนี้
ภาวะการส่งออก
การส่งออกเดือนกรกฏาคม 2550 มีมูลค่า 11,810.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่องถึงร้อยละ 18.6 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 และเมื่อคิดในรูปเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 406,149.9 ล้านบาท
สินค้าส่งออกสำคัญ การส่งออกมีการชะลอตัวลง เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ 10.6 สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร และ สินค้าอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 2.0 และ ร้อยละ 2.8 ตามลำดับ
- สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญ ที่ส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขณะที่การส่งออกสินค้าอาหารและน้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และ 64.6 ตามลำดับ
- สินค้าที่ส่งออกลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 21.6 และ 10.9) เนื่องจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือ และการชะลอการสั่งซื้อในตลาดแอฟริกา มันสำปะหลัง (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 35.1 และ 10.3) เนื่องจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ประกอบกับผลผลิตในประเทศลดลง ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป (ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 14.1 และ 4.9) เนื่องจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท การเพิ่มขึ้นของค่าระวางเรือ และมาตรการกีดกันทางการค้าในสหรัฐฯและสหภาพยุโรป
-สินค้าที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นแต่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ยางพารา ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 8.6 กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 7.0 เนื่องจากสหรัฐฯใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากุ้งจากไทย ทั้งมาตรการ AD และการวางพันธบัตรค้ำประกัน
-สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สินค้าที่สำคัญและขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 15 ได้แก่ ยานยนต์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง สิ่งพิมพ์และกระดาษ และผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ และสินค้าสำคัญอื่น ๆ ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์เหล็กและ เหล็กกล้า และเครื่องใช้/เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เนื่องจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทและการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจีน
- กลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเลนส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6, 36.1 และ 22.4 ตามลำดับ สินค้าอื่น ๆ ที่ลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันเบนซิน ลดลงร้อยละ 43.8 และ 55.4 ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญ การส่งออกไปตลาดใหม่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงเหลือร้อยละ 16.3 (เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 26.3 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี) ขณะที่ตลาดหลักลดลงร้อยละ 1.7 (เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.0 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี)
- ตลาดหลัก ส่วนใหญ่ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และ อาเซียน (5) เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.9, 1.7 และ 0.3 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามถึงร้อยละ 13.6 สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลงได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอัญมณีและเครื่องประดับ เนื่องจากปัญหาการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ การแข็งค่าของเงินบาทและการประกาศจะยกเลิกให้ GSP สินค้าไทย และสิงคโปร์ที่ส่งออกลดลงร้อยละ 25.4 สินค้าสำคัญที่ส่งออกลดลงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และ เคมีภัณฑ์
- ตลาดใหม่ ส่วนใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราสูง ได้แก่ อินเดีย (ร้อยละ 81.2) ยุโรปตะวันออก (ร้อยละ 70.8) ลาตินอเมริกา (ร้อยละ 32.6) ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 28.0) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 21.9) จีน (ร้อยละ 18.1) และอินโดจีนและพม่า (ร้อยละ 13.7) ตลาดใหม่อื่น ๆ ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง แอฟริกา และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3, 7.0 และ 0.5 ตามลำดับ
การส่งออกในระยะ 7 เดือนของปี 2550 มีมูลค่า 83,409.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 คิดเป็นร้อยละ 57.1 ของเป้าหมายการส่งออก ในรูปค่าเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 2,917,730.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 โดยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ทั้งหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และ สินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.5, 16.5 และ 17.2 ตามลำดับ
- สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ข้าว (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และ 19.6) ผลิตภัณฑ์มัน
สำปะหลัง (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 และ 34.8) สินค้าอาหาร (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และ 12.2) และน้ำตาล (ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 188.3 และ 157.2) สำหรับสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ปริมาณลดลง คือ ยางพารา มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่ปริมาณลดลงร้อยละ 1.5
- สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกเพิ่มขึ้น ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 15 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง (เหล็กและเหล็กเส้น) ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์และกระดาษ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ และของเล่น สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-15 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้เดินทาง และเครื่องหนัง/รองเท้า สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นต่ำกว่าร้อยละ 10 ได้แก่ สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และ เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้าน
- สินค้าอื่นๆ ที่สำคัญและส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลส่วนประกอบ เลนส์ ส่วนประกอบของอากาศยานและอุปกรณ์การบิน และ ทองแดง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1, 41.4, 29.9, 54.3 และ 46.7 ตามลำดับ
ตลาดส่งออกสำคัญ การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ ร้อยละ 10.7 และ 24.7 ตามลำดับทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 45.4 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็นร้อยละ 54.6 (ปี 2549 สัดส่วนตลาดใหม่ : ตลาดหลัก คือ 43.2 : 56.8)
- ตลาดหลักที่ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่อง ได้แก่ สหภาพยุโรป(15) อาเซียน(5) และ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9, 12.9 และ 12.9 ตามลำดับ ยกเว้นสหรัฐฯที่ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 2.0 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ภาวะการแข่งขันในตลาด การแข็งค่าของเงินบาท และการประกาศจะยกเลิกGSP สินค้าไทย
- ตลาดใหม่ที่ขยายตัวในอัตราสูงได้แก่ อินเดีย(ร้อยละ 66.0) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 61.3) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 35.8) ตะวันออกกลาง (ร้อยละ 34.6) ลาตินอเมริกา (ร้อยละ 31.8) แอฟริกา (ร้อยละ 31.1) จีน (ร้อยละ 26.1) และอินโดจีนและพม่า (ร้อยละ 19.7) ขณะที่เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และแคนาดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9, 7.0, 7.4 และ 5.0 ตามลำดับ
ภาวะการนำเข้า
การนำเข้าเดือนกรกฏาคม 2550 มีมูลค่า 11,599.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวด ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 11.3) และสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 14.9) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ (ร้อยละ 9.3) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ (ร้อยละ 13.5) กลุ่มสินค้าที่นำเข้าลดลงได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง (ร้อยละ 12.5) สินค้าทุน (ร้อยละ 3.3)
กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นสัดส่วนร้อยละ 96 ของการนำเข้ารวมของเดือนกรกฎาคม 2550 มีดังนี้
- สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 2,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวลดลงร้อยละ 12.5 โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบที่มีปริมาณลดลงร้อยละ 10.4 มูลค่าลดลงร้อยละ 7.6 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.1 ของการนำเข้ารวม
- สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 2,967 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวลดลงร้อยละ 3.3 โดยมีการนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 4.3 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 4.5
- สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 5,121 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 สินค้าสำคัญที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 10.4) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 2.3) ในขณะที่
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณลดลงร้อยละ 12.7 มูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ส่วนทองคำ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 175.7 และ 143.0 ตามลำดับ
- สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้ามูลค่า 919 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 สินค้าสำคัญที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (ร้อยละ 7.2) เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (ร้อยละ 31.6) เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ (ร้อยละ 16.4) นมและผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 18.4) และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ (ร้อยละ 14.2)
การนำเข้าในระยะ 7 เดือนของปี 2550 มีมูลค่า 77,693.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาสินค้านำเข้าถูกลง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ร้อยละ 13.5) สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 17.7) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (ร้อยละ 6.8) ส่วนสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 5.3, 2.7 และ 3.0 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง
ดุลการค้า
ดุลการค้าเดือนกรกฏาคม 2550 ไทยเกินดุลการค้า 211.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าในระยะ 7 เดือนของปี 2550 เกินดุลการค้ารวม 5,716.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขาดดุลการค้า 2,385.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
สรุปแนวโน้มการส่งออก การนำเข้า และดุลการค้า
- แนวโน้มการส่งออก
กระทรวงพาณิชย์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกยังเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจและการค้าของโลก และตลาดส่งออกสำคัญยังมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย IMF มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและการค้าโลกล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม ว่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 และ 7.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศต่าง ๆ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และประเทศในแถบเอเชียและยุโรปตะวันออก ประกอบกับการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางและแนวโน้มที่อ่อนตัวลงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในระยะต่อไป รวมทั้งการร่วมกันดำเนินมาตรการเจาะและขยายตลาดทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ของกระทรวงพาณิชย์และผู้ส่งออก
อย่างไรก็ตาม การส่งออกในเดือนกรกฎาคมที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากนั้น กระทรวงพาณิชย์จะได้มีการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไป
- แนวโน้มการนำเข้าและดุลการค้า
จากการที่กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการแจ้งแผนการนำเข้าเป็นรายเดือนรวม 10 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักรการเกษตร คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และการติดตามการนำเข้า
สินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้สามารถคาดการณ์การนำเข้าในเดือนสิงหาคม ได้ดังนี้
แนวโน้มการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่สำคัญ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก คาดว่าจะมีการนำเข้าในระดับเดียวกับเดือนกรกฎาคม โดยผู้นำเข้าแจ้งแผนการนำเข้าไว้ที่ 1.39 ล้านตัน ตามความต้องการใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกและทดแทน Stock เดิมที่ใช้ไป สำหรับ เคมีภัณฑ์ คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวทำให้สามารถนำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในตลาดสหภาพยุโรปและตะวันออกกลาง ส่วนการนำเข้าทองคำ คาดว่าจะมีการนำเข้าใกล้เคียงกับเดือนกรกฏาคมคือประมาณ 12.34 ตัน
แนวโน้มการนำเข้าสินค้าทุนที่สำคัญได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตฮาร์ดดิสก์เพื่อการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เครื่องจักรกล
และส่วนประกอบ คาดว่าจะมีการนำเข้าใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม เนื่องจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแข็งตัวของค่าเงินบาท จึงนับเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเก่าเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต ส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ คาดว่าจะมีการขยายตัวการนำเข้าลดลง เนื่องจากเครื่องจักรไฟฟ้ามีอายุการใช้งานนานผู้ประกอบการยังใช้เครื่องจักรไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมได้
แนวโน้มการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สำคัญ คือ น้ำมันดิบ คาดว่าจะเป็นไปตามแผนที่ผู้นำเข้าแจ้งไว้กับกระทรวงพลังงาน คือนำเข้าปริมาณ 848,000 บาร์เรล/วัน
สำหรับการนำเข้าสินค้าตามโครงการของรัฐฯและรัฐวิสาหกิจต่างๆ 14 หน่วยงาน ได้แจ้งแผนการนำเข้ามูลค่า 29.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะนำเข้าทั้งปี 2550 มูลค่าประมาณ 1,223.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ