กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สสส.
ปัจจุบันการสื่อสารสมัยใหม่ในยุโลกาภิวัฒน์ได้ทำให้อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกครอบงำวิถีชีวิตของวัยรุ่นไทยจำนวนมาก ส่งผลความเชื่อและค่านิยมในด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งการแต่งกาย การคบเพื่อนต่างเพศ การเพศสัมพันธ์แบบเสรีฯลฯ เหล่านี้ได้นำไปสู่การพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม จนเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อความเจริญด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้นำพาอิทธิพลและวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ ทำให้ค่านิยมและความเชื่อต่างๆ ของเยาวชนเปลี่ยนไป โดยผลสำรวจพบว่าในปี 2551 มีมารดาวัยรุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีสูงถึงร้อยละ 26 ในปี 2552 ร้อยละ 24.05 และในปี 2553 ร้อยละ 23.75 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรมีมารดาวัยรุ่นเกินร้อยละ 10
จากสภาพปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยสาธารณสุขวังทอง จึงได้จัดทำ “โครงการการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน : ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก” เพื่อศึกษาและวิจัยถึงสาเหตุและร่วมกันหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายมนัส โตสมบัติ นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวังทอง หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นมาจากการพบตัวเลขทารกแรกเกิดในอำเภอวังทองมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นจำนวนมาก และมีสุขภาพไม่แข็งแรงสมบูรณ์ ทำให้ต้องค้นหาถึงสาเหตุ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากมารดาเป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยมีอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 20 แล้วก็ยังพบว่าในพื้นที่ของตำบลแก่งโสภามีมารดาที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมากถึงร้อยละ 26 ซึ่งสูงที่สุดในอำเภอวังทอง จึงได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน สถานีอนามัย และชุมชนในพื้นที่กำหนดแนวทางและรูปแบบการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรให้กับเยาวชน
“การเป็นแม่วัยรุ่นจะมีปัญหาหลายด้าน เมื่อรู้ว่าตั้งท้อง เด็กก็จะไม่กล้าบอกผู้ปกครอง บางคนจะใช้ผ้ารัดไว้และยังไปโรงเรียนอยู่ใกล้คลอดแล้วก็มาคลอดโดยที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ เมื่อไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และดูแลระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ลูกที่ออกมามีน้ำหนักที่ต่ำมากกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งแม่และลูกจะไม่ได้รับภูมิคุ้มกันต่างๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหากับครอบครัวเพราะรับไม่ได้ว่าลูกท้องจนอาจถูกทำร้าย ด้านสุขภาพจิตของแม่เองก็มีปัญหาหากไม่มีพ่อเด็กมารับผิดชอบ เมื่อท้องก็ต้องออกจากโรงเรียนอนาคตก็หมดไป เด็กทารกที่คลอดออกมาก็อาจจะพิการไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่ต้น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือเมื่อคลอดลูกออกมาแล้วเลี้ยงลูกไม่เป็นทิ้งให้ปู่ย่าเลี้ยง ส่วนตัวเองก็ต้องออกไปหางานทำ ซึ่งก็มีรายได้น้อยเพราะไม่มีวุฒิการศึกษาต้องทำงานรับจ้าง ดังนั้นเด็กที่เกิดมาก็จะมีเป็นปัญหาที่สังคมจะต้องมาแบกรับต่อ” นายมนัสระบุ
จากการทำงานในพื้นที่พบว่ากลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนมีมุมมองทางเพศและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ฝ่ายชายมีความเชื่อในเรื่องการสะสมประสบการณ์ทางเพศว่าเป็นศักดิ์ศรีของผู้ชาย ประกอบกับผู้ปกครองและครูผู้สอนขาดความเข้าใจและมีทัศนคติในเรื่องเพศที่แตกต่างกันกับเด็ก ทำให้เด็กมีการเรียนรู้เรื่องเพศที่ไม่ถูกต้องผ่านสื่อสมัยใหม่มากกว่าความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนหรือครอบครัว
จากปัญหาดังกล่าวทำให้ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหามากมาย อาทิ “โครงการล้อมรั้วชุมชน” โดยร่วมกับร้านค้า ร้านอินเตอร์เน็ต โรงแรม รีสอร์ท กำหนดมาตรการในดูแลเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และยังได้จัดการอบรม “เยาวชนรู้ทันสื่อยุคดิจิตอล” เพื่อขจัดสื่อร้ายขยายสื่อดีให้เยาวชนสามารถแยกแยะพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง มีการจัดทำเว็ปไซต์เพื่อเป็นสื่อกลางของเยาวชนในการเรียนรู้เรื่องเพศแทนสื่อลามก และยังได้จัดทำ “โครงการครอบครัวตัวอย่างเยาวชนต้นแบบ” ใน 13 หมู่บ้าน โดยจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการที่จะพัฒนาครอบครัวของตนเองสู่ครอบครัวตัวอย่าง
นอกจากนี้ยังได้มีการผลิต สื่อเพศศึกษา “หนังสั้น” ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับชีวิตจริงและความต้องการที่จะเรียนรู้ตามวัย เพื่อให้ความรู้และข้อคิดเตือนใจให้กับเด็กและเยาวชนโดยแบ่งออกเป็นช่วงอายุดังนี้คือ หนังสั้น “ก้าวแรก” สำหรับนักเรียนชั้น ป.6-ม.2, “ก้าวระเริง” สำหรับนักเรียนชั้น ม.3-ม.4, “ก้าวที่พลาด” สำหรับนักเรียนชั้น ม.5-ม.6 และ หนังสั้นเรื่อง “ทางออก” สำหรับครอบครัวและผู้ปกครอง เพื่อนำไปใช้ในชั่วโมงเรียนวิชาสุขศึกษาและในการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน
น.ส.วลัยพร พงษ์มณี พยาบาลประจำสถานีอนามัยตำบลแก่งโสภา หนึ่งในทีมวิจัยฯ กล่าวว่า หลังจากการทำงานร่วมกับชุมชน พบว่าทั้งผู้นำท้องถิ่น ผู้ปกครอง อสม. และครู ต่างก็มีทัศนคติหรือมุมมองเกี่ยวกับปัญหาของเด็กวัยรุ่นที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อเปิดใจรับ ก็จะเข้าใจ และมองเห็นวิธีการที่จะรับมือกับปัญหาและทางออกร่วมกันของชุมชน เมื่อก่อนเรามองว่าวัยรุ่นคือตัวปัญหา แต่ไม่ได้เข้าใจว่าเขากำลังเผชิญปัญหา ดังนั้นเราจึงต้องให้โอกาสเขา ให้ทางออกที่ถูกต้องในการแก้ปัญหากับเขา
“ในการทำงานเราไม่ได้คาดหวังว่าตัวเลขของมารดาวัยรุ่นจะลดต่ำลง แต่เราอยากเห็นความรุนแรงของปัญหาการมีเพศสัมพันธ์อย่างขาดความรับผิดชอบลดลง เพื่อลดผลเสียจากปัญหาโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้น การตั้งครรภ์ก่อนวัย ที่จะส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต ซึ่งเราอยากให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่มีความเข้าใจในเรื่องเพศอย่างถูกต้อง เขาอาจจะมีเพศสัมพันธ์ได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นๆ แต่ถ้าเลือกได้ให้เรียนจบไปก่อนแล้วค่อยมีจะดีกว่าให้” น.ส.วลัยพรแนะนำ
ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาเยาวชนปัจจุบันกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างวิกฤติ เพราะมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งปัญหาในด้านของสื่อ ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ยาเสพติดฯลฯ
“เวลาที่เราพูดถึงเรื่องวัยรุ่นตั้งครรภ์ เรามักจะมองไปที่ประเด็นเรื่องการใช้ถุงยางหรือไม่ใช้ หรือการทำแท้ง ซึ่ง สสส.มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดย สสส.จะทำงานมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยจะเข้าไปดูในเรื่องของความไม่พร้อมของวัยรุ่น หรือดูแลสังคมแบบใหม่ของวัยรุ่นอย่างไร ผ่านมุมมองด้านสุขภาวะใน 4 มิติ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทาง สสส. จะเข้าไปจัดการกับเรื่องเหล่านี้ซึ่งจะได้ผลและเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน” ผู้จัดการ สสส.กล่าวสรุป.