กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--C.A. Info Media
กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลังหน่วยร่วมเร่งขับเคลื่อนโปรเจกต์ยักษ์ รับมือสภาวะเศรษฐกิจผันผวน อัดฉีดงบกว่า 100 ล้าน หนุนวิสาหกิจชุมชนสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หวังสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความเชื่อมั่นในการลงทุนและการบริโภคลดลง ภาคการผลิตส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตเพื่อลดต้นทุน หรือในบางรายจำเป็นต้องปรับลดคนงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานจากภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่า ขณะนี้ทิศทางของเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีประชาชนที่ถูกเลิกจ้างกลับสู่ภูมิลำเนาจำนวนมากที่ยังมีความเดือดร้อน ไม่มีงาน ขาดรายได้ หรือในบางรายต้องห่างบ้าน ห่างครอบครัวเข้ามาหางานในตัวเมืองใหญ่ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัว และเกิดการกระจุกตัวของประชากรที่สร้างความแออัดในสังคมเมืองมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ กระทรวง ฯ จึงได้มีแนวคิดที่จะสร้างแหล่งงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้มีช่องทางในการ ทำมาหากินในแผ่นดินเกิดของตน นำมาสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ประกอบกับผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญต่อประเทศอย่างไม่สามารถมองข้ามไปได้ หากแต่ยังขาดการพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิต หรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด จึงได้ประสานแนวคิดกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย (กอ.นตผ.) และกระทรวงพาณิชย์ โดยได้จัดสรรงบประมาณดำเนินงานดังกล่าว รวมแล้วกว่า 100 ล้านบาท มอบให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการยกระดับภาคการผลิตให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สวยงาม ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกิดเป็นความผสมผสานของไอเดีย และการตลาดอย่างลงตัว ตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และสร้างแรงจูงใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาการบริหารจัดการหน่วยผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างศักยภาพให้กับผลิตภัณฑ์ สามารถแข่งขันในตลาดได้ นำมาสู่ความเข้มแข็งของประชาชน ท้องถิ่น และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 นับว่าเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาได้จัดระดับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็น 5 ระดับ อย่างไรก็ตาม กระบวนการส่งเสริมOTOP ก็ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ในขอบเขตที่จำกัด คือ เมื่อผู้ประกอบการได้รับการคัดสรรเป็น 5 ดาวแล้ว ยังไม่มีการสนับสนุนส่งเสริมในระดับที่สูงขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงจัดให้มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ OTOP เพื่อพัฒนาสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการประกอบการในแต่ละชุมชน ส่งเสริมให้เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ มีการผลิต ที่มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารจัดการที่ดี มีช่องทางการจำหน่ายของตนเอง โดยที่ยังคงไว้ซึ่งชุมชนท้องถิ่นและวัฒนธรรม โดยกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 140 กลุ่ม ทั้ง 70 จังหวัด จังหวัดละ 2 กลุ่ม จะต้องมีคุณสมบัติ คือ เป็นผู้ประกอบการ OTOP ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการประเภทกลุ่ม หรือชุมชนผู้ประกอบการรายเดียว ได้รับการคัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว ได้รับการรับรองจากเครือข่าย OTOP ระดับจังหวัด และมีความต้องการที่จะพัฒนาไปสู่การประกอบการที่เป็นระบบและอาชีพหลัก จะพิจารณาจากกลุ่มผู้ประกอบการที่จะสามารถช่วยสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมหรือวัฒนธรรมให้เกิดในชุมชน ซึ่งจะมีหน่วยงานที่เข้าร่วม คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และ คณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการ OTOP ระดับประเทศ และระดับจังหวัด ใช้ระยะเวลาดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2554 ใช้งบประมาณกว่า 22 ล้านบาท
นายอาทิตย์ฯ เผยอีกว่า เพื่อให้ภาคการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน มีความแข็งแกร่ง ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จัดทำระบบมาตรฐานการจัดการวิสาหกิจชุมชน โดยการประยุกต์ใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งแรงงานว่างงานที่กลับคืนถิ่น ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ต่อคน ต่อเดือน หรือมีรายได้รวมในปีแรกไม่น้อยกว่า 36 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาการทิ้งถิ่นฐาน โครงการ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2554 ใช้งบประมาณ 45 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินการ คือ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 — 11 กสอ. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ