กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--สวรส.
ต้อนรับวันผู้สูงอายุไทย เผยสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยยังน่าห่วงมีแนวโน้มถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวถึง 17 เปอร์เซนต์ และอีกกว่า 12 เปอร์เซนต์ของผู้สูงอายุที่ว่างงานถูกส่งเข้าสถานสงเคราะห์ ในขณะที่ 80 เปอร์เซ็นต์ยังคงต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ เหตุเพราะโครงสร้างสังคมอ่อนแอ และภาวะเศรษฐกิจทุนนิยมทำให้สมาชิกในครอบครัวผูกพันกันน้อยลง อีกทั้งต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างหนัก พบตัวอย่างผู้สูงอายุในคนคนเดียวมีโรครุมเร้าถึง 8 โรค วอนสังคมหันมาสนใจดูแลผู้สูงอายุและสร้างสัมพันธ์อันดีในครอบครัวให้อบอุ่น เพื่อเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดให้กับคนในครอบครัว
แพทย์หญิงเยาวรัตน์ ปรปักษ์ขาม ผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 3 พ.ศ.2546-2547 ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเผยว่าสถานการณ์ของผู้สูงอายุในสังคมไทยกำลังเป็นที่น่าวิตก ข้อมูลจากการสำรวจพบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยข้อมูลจากสัมมะโนประชากร ตั้งแต่ปี 2513 ผู้สูงอายุที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวมีเพียง 10 เปอร์เซนต์ แต่ในปี 2547 พบว่าจำนวนผู้สูงอายุที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังเพิ่มเป็น 17 เปอร์เซนต์ ที่น่าตกใจคือกว่า 12 เปอร์เซนต์ของผู้สูงอายุที่ว่างงานถูกปล่อยให้อยู่ในสถานสงเคราะห์ ทั้งนี้เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปกลายเป็นกระแสทุนนิยม ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างครอบครัวให้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ความรักความผูกพันในครอบครัวน้อยลง ความตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุจึงน้อยลงตามไปด้วย
นอกจากจะพบผู้สูงอายุถูกปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยวผลการสำรวจยังพบว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มอายุ 60 - 80 ปี ยังคงต้องทำงานทั้งเพื่อเลี้ยงตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัว โดยลักษณะงานเป็นการประกอบอาชีพส่วนตัว โดย 48 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานกลุ่มนี้ถือว่ามีความสามารถในการทำงานและเป็นที่พึ่งให้กับบุคคลอื่นในครอบครัวด้วย จากการสอบถามจำนวนผู้สูงอายุเหล่านี้พบว่ากว่า 90 เปอร์เซนต์ยังอยากที่จะทำงานเพื่อต้องการรายได้ไว้สำหรับใช้จ่ายต่างๆ และยังอยากที่จะทำงานต่อไป ส่วนผู้สูงอายุที่ทำงานในภาคเอกชนมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ทั้งหมด
พญ.เยาวรัตน์ กล่าวต่อว่าในขณะที่ผู้สูงอายุยังคงต้องทำงานเพื่อหารายได้ต่อไปนั้น ยังสำรวจพบปัญหาด้านสุขภาพที่อาจกลายเป็นอุปสรรคในการทำงานและการเนินชีวิตอีกด้วย จากสำรวจร่างกายของผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยประสบกับปัญหาความขัดสนเรื่องอาหารโดยพบปัญหาขาดสารอาหารในผู้สูงอายุหญิงมากกว่าผู้สูงอายุชายเนื่องจากร่างกายของเพศหญิงมีความต้องการสารอาหารที่เข้าไปดูแลร่างกายในด้านฮอร์โมนต่างๆ ที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่สูงวัยมากยังต้องเผชิญกับโรคประจำตัวหลายโรคพร้อมๆ กัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคประจำตัวสูงสุดถึง 8 โรค ในคนเดียว โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ หอบหืด มะเร็ง โลหิตจาง ระดับไขมันในเลือดสูง ไตวาย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเสื่อม โดยในจำนวนผู้หญิงจะเป็นโรคเหล่านี้สูงกว่าในผู้ชาย สำหรับอุบัติเหตุเล็กน้อยที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 40-60 ปี คือพลาดหกล้มและอาจเกิดอันตรายได้ บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องกับโรคเข่าไม่ดี เดินไม่ตรง หกล้มบ่อยทำให้เกิดอาการรวนไปทั้งร่างกาย จนไม่สามารถทำงานและดำเนินชีวิตอย่างปกติได้ ในขณะเดียวกันกลับพบว่าผู้สูงอายุยังต้องประสบปัญหาการเข้าถึงและได้รับบริการสุขภาพ แม้ว่าจะมีสิทธิ์ได้รับบริการสุขภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 10 ปีย้อนหลัง และรวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจเป็นเพราะโรคที่พบในผู้สูงอายุส่วนมากเป็นโรคที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายราคาสูง
อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจอาจสะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้โครงสร้างสังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิม อาจเนื่องมาจากกระแสการบริโภคนิยมและความผูกพันธุ์กับผู้สูงอายุในครอบครัวลดน้อยลงมาก เราควรหันมาสนใจผู้สูงอายุคือดูแลและเอาใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเวลาปกติหรือเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พูดคุย และหาโอกาสพาไปพักผ่อน หากิจกรรมให้ทำในเวลาว่าง สนับสนุนให้ได้รับการออกกำลังกายที่ถูกวิธีเพื่อเป็นการพัฒนาร่างกายควบคู่กันไป ทั้งนี้การสร้างความอบอุ่นและความสัมพันธ์ที่ดีของสมาชิกในครอบครัวเช่นนี้ยังจะกลายเป็นวัคซีนที่ดีของสมาชิกในครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย