กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
“กุหลาบ” ดอกไม้ที่คนกว่าครึ่งโลก ยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แทนคำว่า “รัก” คนหนุ่มสาวนิยมมอบให้กันในวันวาเลนไทน์ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี
ในเทศกาลวาเลนไทน์ที่มาถึงนี้ ทางอุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัด นิทรรศการ “กุหลาบกับความรัก” ขึ้น ณ บริเวณลานสานฝัน ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยนิทรรศการดังกล่าวได้รวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกุหลาบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งด้านประวัติศาสตร์,เกษตรกรรม,วิทยาศาสตร์,ศิลปะ ฯลฯ เกิดมิติใหม่ที่ทำให้รู้จักกับกุหลาบนอกเหนือจากจะความสวยงามแล้ว ยังเผยนัยยะอื่น ๆ ที่ซ่อนอยู่ เปลี่ยนเป็นเรื่องราวที่เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างสนุกและเพลิดเพลิน
นิทรรศการนี้ได้จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับกุหลาบไว้หลากหลาย โดยย้อนกลับไปกว่าพันปี “กุหลาบ”ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกเพื่อประดับตกแต่งสถานที่ การนำมาใช้เป็นเครื่องประทินความงาม หรือนำมาสกัดเป็นน้ำหอม รวมไปถึงการปรากฏอยู่ในนิทานปรัมปรา เทพนิยาย วรรณคดีหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก นอกจากนี้กุหลาบยังได้ความนิยมจากผู้คนทั่วโลกส่งมอบดอกกุหลาบแทนความรัก เพราะถือว่ากุหลาบเป็นไม้ดอกที่มีอายุคู่กับมนุษยชาติมาเป็นเวลายาวนานราว 5,000 ปี
นายจีระ ดวงพัตรา เจ้าของสวน “จีระโรส” อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกุหลาบมายาวนานกว่า 50 ปี เล่าถึงวิวัฒนาการของดอกไม้ที่คนกว่าครึ่งโลกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความรักว่า มีหลักฐานกล่าวไว้ว่า กุหลาบมีต้นกำเนิดที่เขาคอเคซัสในเปอร์เซีย และเรียกว่า “คุล” ในภาษาเปอร์เซียแปลว่า ดอกไม้กุหลาบ หรือสีแดง จึงอาจเป็นไปได้ว่าสีกุหลาบในสมัยก่อนนั้นคือสีแดงเข้มถึงแดงอ่อน จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ย้อนไปกว่า 1,200 ปีก่อนคริสตกาลของชาวเปอร์เซียบันทึกไว้ว่า กุหลาบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องประทินผิว ยา รวมไปถึงส่วนประกอบอาหาร
ภายหลังมีการนำเข้าไปปลูกในอินเดีย เพราะในภาษาฮินดูมีคำว่า “คุล”แปลว่า“ดอกไม้”และคำว่า “คุลาพ” ซึ่งไทยออกเสียงเป็น “กุหลาบ” นั่นเอง ส่วนคำว่า “Rose” ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า “Rhodon” ที่แปลว่า กุหลาบในภาษากรีก
กุหลาบเป็นไม้ดอกที่อยู่ในสกุล Rose วงศ์ Rosaceae ซึ่งค้นพบแล้ว 125 ชนิด โดยมีถึง 95 ชนิดที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเอเชีย 18 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา และที่เหลือพบในยุโรป และตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา และด้วยรูปร่างลักษณะที่หลากหลายของกุหลาบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สมาคมกุหลาบโลก (The World Federation of Rose Society)ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้จำแนกกุหลาบในโลกไว้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.กุหลาบป่า หมายถึง กุหลาบที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมย้อนกลับไปนับล้านปี จากหลักฐานการขุดค้นทางบรรพชีวินวิทยา มีการขุดพบฟอสซิลใบกุหลาบครั้งแรกที่รัฐโอเรกอน และรัฐโคโลราโด ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าหน้าตาจะไม่เหมือนกับดอกกุหลาบในยุคปัจจุบันนัก แต่ก็ได้รับการพิสูจน์และเป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่า กุหลาบเป็นไม้ดอกที่อยู่คู่โลกมานับร้อยล้านปี
2. กุหลาบสมัยเก่า (Old Fashioned Roses) หมายถึงกุหลาบในยุคก่อนที่มีการนำมาผสมพันธุ์โดยนักพันธุศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นกุหลาบก่อนศตวรรษที่ 20 คุณสมบัติเด่น คือ มีกลิ่นหอมชัดเจน
และ 3. กุหลาบนิยมสมัยใหม่ (Modern Roses) หมายถึงกุหลาบที่พัฒนาพันธุ์ขึ้นในศตวรรษที่ 20 และ21 เพื่อให้ดอกมีขนาดใหญ่สวยงามขึ้น ดอกมีสีสันให้เลือกมากขึ้น หรือ พัฒนาให้พันธุ์มีความแข็งแรงมากขึ้นในการเพาะเลี้ยง ซึ่งทำให้เป็นที่นิยมของท้องตลาด โดยสังเกตได้จากท้ายชื่อของกุหลาบมักกำกับด้วยตัวอักษร HT ย่อมาจาก Hybrid Tea หมายถึง กุหลาบประเภทดอกใหญ่ และมักได้รับการตั้งชื่อตามคนดังในแวดวงต่าง ๆ
กุหลาบสมัยเก่าที่ผสมใหม่เพื่อให้ได้ดอกใหญ่ และกลายเป็นกุหลาบนิยมสมัยใหม่ต้นแรกของโลกชื่อ ลา ฟรองซ์ (La France) เกิดในประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1867 ดอกมีสีชมพูอ่อน กลิ่นหอมแรง ในหนึ่งดอกมีกลีบดอกได้มากถึง 60 กลีบ ดอกโน้มตัวลงเล็กน้อยจากก้านดอก และมีชื่อไทยว่า“เดือนฉาย”เป็นกุหลาบที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำมาปลูกที่เมืองไทย
“ ปัจจุบันในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์กุหลาบเป็นอย่างมาก และมีการจัดประกวดเพื่อพัฒนาพันธุ์กุหลาบทุกปี เช่น กุหลาบที่ชนะเลิศในอเมริกาจะมีคำกำกับเป็นสัญลักษณ์ว่า AARS ย่อมาจาก All American Rose Selections ส่วนประเทศทางยุโรปมักใช้คำว่า Gold Medal และ Trophy ขณะที่ในประเทศไทย ขาดการสนับสนุนเรื่องนี้จากภาครัฐ ทำให้การพัฒนาพันธุ์กุหลาบของไทยมีความล้าหลังต่างประเทศในทุก ๆด้านมากว่า 40-50 ปี
นอกจากนี้ ได้มีการพัฒนากุหลาบใหม่ออกมาเรียกว่า Modern Shrub Rose หรือ The Old Fashioned Modern Roses เป็นกุหลาบที่ผสมพันธุ์ระหว่างกุหลาบสมัยเก่าและกุหลาบสมัยใหม่ โดยชาวอังกฤษ ชื่อ เดวิด ออสติน ได้ตั้งชื่อว่า “กุหลาบอังกฤษ( English Rose)” เป็นกุหลาบที่มีพุ่มใหญ่ กำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลก เพราะเลี้ยงง่ายกว่า แข็งแรง โตเร็ว ปลูกได้ทั่วโลก และต้านทานโรคได้ดี มีคุณสมบัติพิเศษคือ ดอกมีกลิ่นหอมที่แรงมาก ออกดอกตลอดปี และมีสีสันให้เลือกมาก ลักษณะดอกจะเป็นทรงป้อมคล้ายถ้วย กลีบดอกซ้อนหนาหลายชั้น บางพันธุ์มีมากกว่าร้อยกลีบในดอกเดียวกัน ลักษณะทรงพุ่มจะเป็นกึ่งเลื้อยบางพันธุ์สามารถทำเป็นได้ทั้งชนิดพุ่มใหญ่ (Shrub) และชนิดเลื้อย (Climber) ปัจจุบันร้านค้าและร้านจำหน่ายดอกไม้ในกรุงเทพฯ นิยมนำกลุ่มกุหลาบอังกฤษไปจำหน่าย เพราะได้รับความนิยม บางรายสามารถจำหน่ายได้ถึงต้นละ 3,500 บาท แม้อากาศร้อนในบ้านเราก็เลี้ยงได้ง่าย แต่ดอกอาจใหญ่สู้เมืองหนาวไม่ได้” นายจีระ กล่าว
การปลูกกุหลาบในประเทศ นายจีระ ผู้คลุกคลีมานานกว่า 50 ปี ยอมรับว่า ปกติกุหลาบเป็นไม้ดอกที่เลี้ยงยาก ต้องการความเอาใจใส่พิเศษ และผู้เลี้ยงต้องมีประสบการณ์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกกุหลาบตัดดอก หากไม่ปลูกในโรงเรือนก็จะต้องปลูกบนพื้นที่สูงเหนือจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป จึงจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีกว่าการปลูกในพื้นที่ราบ แม้จะให้ผลผลิตในปริมาณมาก แต่ไม่ได้คุณภาพ และได้ราคาต่ำ ปัจจุบันแม้จะมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 5,500 ไร่ แต่ที่มีการปลูกกุหลาบตัดดอกมากที่สุดน่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ โดยในปีนี้มีผลผลิตมากกว่าล้านต้น รองมาเป็น อ.พบพระ จ.ตาก นอกจากนี้ยังมีที่จังหวัดเชียงราย ,นครปฐม ,สมุทรสาคร ,ราชบุรี และกาญจนบุรี
“ คาดว่า เทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ จะมีกุหลาบเพียงพอต่อความต้องการ นอกจากกุหลาบในประเทศแล้ว ยังมีกุหลาบจากคุนหมิงของจีนเข้ามาตีตลาด แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเชื่อว่า กุหลาบของไทยยังคงได้รับความนิยมเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา เพราะมีคุณภาพที่ดีและสดกว่า ขณะที่ความต้องการกุหลาบจากต่างประเทศก็ยังมีมากเช่นกัน แต่มีราคาแพงกว่ามาก โดยเฉพาะกุหลาบสีแดงจนเกือบดำ ซึ่งกุหลาบชนิดนี้ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่ไทยยังไม่สามารถผลิตได้”
นายจีระ ยังได้กล่าวฝากทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกกุหลาบอยู่แล้ว ทั้งด้านค่าแรงและปัจจัยพื้นฐาน แต่ยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกกุหลาบ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการปลูกกุหลาบตัดดอกต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเข้าช่วยแต่มีราคาแพง กรณีการผสมพันธุ์กุหลาบนั้นในต่างประเทศมีความล้ำหน้ากว่าไทยมาก เช่นกุหลาบไร้หนาม ยกตัวอย่างประเทศอิสราเอล แม้จะเป็นประเทศในแถบทะเลทราย แต่สามารถผลิตกุหลาบที่มีคุณภาพส่งออกไปจำหน่ายยังยุโรปสร้างรายได้เข้าประเทศ
ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในด้านทักษะเพิ่มเติม และเรื่องของเทคโนโลยีการให้ปุ๋ย นอกจากจะช่วยสร้างอาชีพให้กับคนไทยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ดอกไม้ประดับของไทยให้เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาคุณภาพกุหลาบของไทยออกไปแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น
เป็นที่ยอมรับว่า ในวันวาเลนไทน์ของทุกปี “กุหลาบ” ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้ายอดฮิตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาดอกกุหลาบในช่วงดังกล่าวปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 3 เท่า คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดให้แก่ร้านขายดอกกุหลาบเฉพาะในกรุงเทพฯ ได้ประมาณ 240 ล้านบาท ขณะที่โพลหอการค้าไทย ได้คาดการณ์ว่า เทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัดสูงถึง 2,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.38% จากปีก่อน
แม้ราคาดอกกุหลาบในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นมาเพียงใด แต่ความต้องการซื้อดอกกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์ของผู้บริโภค ยังคงเป็นที่นิยมก็เพราะ “กุหลาบ”ถือเป็นสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ และแสดงถึง “ความรัก”...นั่นเอง