ปภ.รายงานสถานการณ์การปะทะกันตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2011 09:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีการอพยพราษฎรแล้ว 31,025 คน (ศรีสะเกษ 21,720 คน สุรินทร์ 5,655 คน อุบลราชธานี 3,650 คน) พร้อมสั่งการศูนย์ ปภ.เขต และ สำนักงาน ปภ.จังหวัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่ออำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะดังกล่าว นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุปะทะกันตามแนวชายแดนไทย- กัมพูชา ด้านจังหวัดกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ต่อเนื่องถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ราย (พลเรือน 1 ราย ทหาร 2 นาย) ผู้บาดเจ็บ 22 ราย (พลเรือน 8 ราย ทหาร 14 นาย) บ้านเรือนเสียหายรวม 35 หลัง (ทั้งหลัง 7 หลัง บางส่วน 28 หลัง) อาคารเรียนโรงเรียนบ้านภูมิซรอล เสียหายบางส่วน 2 หลัง หลังคาอาคารสำนักงาน อบต. เสาธงชัย ได้รับความเสียหายบางส่วน สวนยางพาราเสียหาย 50 ไร่ และได้อพยพราษฎรไปยังจุดรองรับการอพยพ จำนวน 37 จุด ในพื้นที่ 10 อำเภอ รวม 21,720 คน พระภิกษุ 8 รูป สำหรับการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น จังหวัดศรีสะเกษได้ประกาศให้พื้นที่ตำบลเสาธงชัย (หมู่ที่ 1 — 13) ตำบลละลาย (หมู่ที่ 1 — 12) ตำบลรุง (หมู่ที่ 1 — 10) ตำบลภูผาหมอก (หมู่ที่ 1 — 6) ตำบลบึงมะลู (หมู่ที่ 2-4 , 13-15) ตำบลโนนสำราญ (หมู่ที่ 1 ,6 — 8 , 10 ,11) และตำบลชำ (หมู่ที่ 3 ,4) อำเภอกันทรลักษ์ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (ภัยอันเนื่องจากกองกำลังจากนอกประเทศ) พร้อมจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดศรีสะเกษ ณ ที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ รวมถึงศูนย์รับบริจาคเงินและสิ่งของที่จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะได้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ปภ. ได้สนับสนุนการปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกและให้บริการ แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปะทะดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ดังนี้ รถยนต์ผลิตน้ำดื่ม 5 คัน รถบรรทุกน้ำ 5 คัน ถังน้ำ 2,000 ลิตร 10 ใบ เพื่อให้บริการน้ำดื่มสะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพ รถไฟฟ้า ส่องสว่าง 2 คัน รถบรรทุกหกล้อ 2 คัน รถบรรทุกขนาดเล็ก 4 คัน รถตู้ 2 คัน สำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน และเต้นท์สนาม (ขนาด 5 คน) รวม 600 หลัง เพื่อให้ผู้ประสบภัยใช้เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะยุติ รวมถึงถุงยังชีพ 2,000 ชุด สำหรับแจกจ่ายบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบจากเหตุปะทะตามแนวชายแดนไทย — กัมพูชา ส่งผลให้ราษฎรที่อาศัยในหมู่บ้านตามแนวชายแดนเกิดความตื่นกลัวที่จะถูกโจมตีจากทหารกัมพูชา จึงต้องดำเนินการอพยพราษฎรในจังหวัดต่างๆ ดังนี้ จังหวัดสุรินทร์ รวม 5,655 คน จังหวัดอุบลราชธานี รวม 3,650 คน ส่วนสถานการณ์ในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด ยังไม่มีข้อมูลการปะทะหรือการอพยพราษฎรแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จังหวัดสระแก้ว ได้กำชับให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเป็นเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์ในหมู่บ้าน และเตรียมความพร้อมหลุมหลบภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เตรียมการรองรับการอพยพของราษฎร โดยกำหนดจุดอพยพไว้ 6 จุด และสร้างหลุมหลบภัยตามแนวชายแดน 10 จุด หากเกิดสถานการณ์สู้รบจะได้สามารถอพยพราษฎรได้ทันท่วงที “ท้ายนี้ ปภ. ได้เน้นย้ำให้ศูนย์ ปภ.เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัดสนับสนุนรถยนต์ เครื่องจักรกลและวัสดุอุปกรณ์สำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแก่จังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาแล้ว” ? สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ