กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สสวท.
หน้าร้อนนี่มันร้อนจริ๊ง ๆ อาบน้ำก็แล้ว พัดซะจนปวดข้อมือ หรือหลบไปรับแอร์ตามห้างสรรพสินค้าก็แล้ว ก็ยังร้อนกันไม่หาย แต่ช่วงหน้าร้อนนี้เรามีเทศกาลแห่งความเย็นชุ่มฉ่ำใจ ซึ่งมีเพียงปีละหน นั่นก็คือ “เทศกาลสงกรานต์” นั่นเอง
"สงกรานต์" เป็น วันขึ้นปีใหม่ ตามประเพณีไทย และเป็นโอกาสที่ สมาชิกในครอบครัว จะได้ พบกัน พร้อมหน้าพร้อมหน้า คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายนเป็นวันเนา วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก
วันสงกรานต์ นั้นมี “แง่งาม” อยู่ที่การได้แสดงความเคารพรักต่อ ปู่ย่าตายาย และผู้อาวุโส และความศรัทธาต่อพุทธศาสนาด้วยการทำบุญและขนทรายเข้าวัด กลายมาเป็นประเพณีการเล่นน้ำอย่างสุดเหวี่ยง จนบางครั้งกลายเป็นสาดน้ำใส่กันอย่างบ้าระห่ำไป นอกจากนั้นในยุคไซเบอร์ยังมีการเล่น สาดน้ำสงกรานต์ทางอินเทอร์เน็ตด้วย
ไหน ๆ ก็จะสนุกกับวันสงกรานต์แล้ว คุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ก็อย่าลืมให้ความรู้คู่ความสนุกกับบุตรหลานไปพร้อมกันด้วย และรู้ไหมว่าวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์อย่างไร ?
ผู้รู้หลาย ๆ คน มีความเห็นตรงกันว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่รอบ ๆ ตัว ใกล้ ๆ ตัวเราไปเสีย ทุกเรื่อง ไม่ว่าเราจะหยิบยกเรื่องใดมาพูด ก็สามารถนำวิทยาศาสตร์มาเชื่อมโยงได้ทุกเรื่องไป
ในเทศกาลที่เรากล่าวถึงนี้ก็มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถนำมาบอกเล่าให้สอดคล้องกับความสนใจของเยาวชนได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ขึ้นไปได้ ถือว่าเป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ไปตามกระแสความสนใจของเขา
หลักการทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำมาอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ได้ ก็มีทั้ง การถ่ายโอนความร้อน การไหลของของไหล ความดันอากาศ แรงเสียดทาน ความตึงผิวของน้ำ เป็นต้น
หลักการถ่ายโอนความร้อนนั้น จะพบว่าความร้อนมีการถ่ายโอนได้ ถ้าอุณหภูมิของบริเวณที่สัมผัสต่างกัน จะมีการถ่ายโอนความร้อนให้แก่กันจนอุณหภูมิเข้าสู่สมดุล และความร้อนจะถ่ายโอนจาก ที่ ๆ มีอุณหภูมิสูงกว่าไปสู่ที่ที่มีอุณหภูมิตํ่ากว่า
กรณีนี้ อาจารย์รังสรรค์ ศรีสาคร นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า “น้ำ” กับ “ผิวหนัง” มีอุณหภูมิไม่เท่ากัน พอราดน้ำไป น้ำซึ่งเย็นกว่าก็จะดูดเอาความร้อนจากผิวหนังไปทันที เมื่อร่างกายถ่ายโอนความร้อนก็จะเย็นลง เมื่อเปลี่ยนจากราดน้ำมาใช้แป้ง หรือดินสอพองละลายน้ำข้นๆ แป้งก็จะเข้มข้นกว่าน้ำ และถ่ายโอนความร้อนได้ดีกว่า ร่างกายจึงเย็นขึ้น สมัยโบราณมีการใช้น้ำอบ น้ำหอม ก็จะทำให้เกิดความสดชื่นภายใน ทำให้จิตใจสงบขึ้น และหากใส่เสื้อผ้าบาง ๆ ความตึงผิวของน้ำก็จะทำให้เนื้อผ้าแนบตัว อาจจะโป๊ได้ไม่รู้ตัว
มาถึงของเล่นชิ้นสำคัญที่เด็ก ๆ ชอบมาก สงกรานต์นี้อยากมีกันไว้เป็นอาวุธคู่กาย นั่นก็คือ “ปืนฉีดน้ำ” นั่นเอง “กลไกหลัก ๆ ของปืนฉีดน้ำคือทำให้ข้างในเป็นสูญญากาศก่อน แล้วความดันอากาศ จะดันน้ำเข้ามา จังหวะที่เราบีบแรงบีบจะดันน้ำออก ถ้าเราปล่อยมือจากก้านบีบเกิดสูญญากาศ ทำให้ ลูกสูบดูดน้ำข้างล่างขึ้นไปรอ และพอเราบีบก็จะฉีดน้ำออกไป เป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ” อ.ราม ติวารี นักวิชาการสาขาฟิสิกส์ สสวท. อธิบายเสริม
เช่นเดียวกับเวลาที่เราดูดน้ำ แล้วน้ำขึ้นมาตามหลอดดูดได้ หรือเวลาที่เราใช้หลอดหยดยา เวลาที่เราบีบกระเปาะลม น้ำก็จะถูกดูดขึ้นมาได้ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า เมื่อ ใช้ปากดูดน้ำที่ปลายหลอดแล้ว จะทำให้ความดันอากาศในหลอดลดลง เมื่อความดันในหลอดลดลง ความดันอากาศภายนอกก็จะช่วยดันให้น้ำขึ้นมาตามหลอดดูดได้นั่นเอง
อ. ราม กล่าวต่อว่า “ขนาดท่อของปืนฉีดน้ำก็มีผลต่อความแรงของน้ำที่ฉีดออกไป หากท่อของ ปืนฉีดน้ำมีขนาดใหญ่แต่มาบีบที่ปลายปากท่อให้เล็กลง ทำให้ปากท่อเล็กกว่าตัวท่อ ความเร็วของน้ำที่ฉีดออกไป ก็จะมากขึ้น เหมือนสายยางรดน้ำที่บีบปลายสายยางไว้ น้ำก็จะฉีดแรงขึ้น ตรงกับหลักการที่ว่าเราสามารถเพิ่มความเร็วโดยการทำให้พื้นที่หน้าตัดเล็กลง”
ปืนฉีดน้ำอาจจะเป็นอาวุธสำคัญที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เพราะถ้าแรงดันน้ำสูง ๆ กระแทกนัยน์ตาก็อาจทำให้ตาบอดได้หากเคยไปเล่นสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร หรือตามถนนในต่างจังหวัดที่เล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างคึกคักจนพื้นถนนเปียก เรียกว่าสาดน้ำกันจนถนนไม่แห้ง ก็ระวังลื่นล้ม หรือเกิดอุบัติเหตุกันได้ หลักการวิทยาศาสตร์ที่ใช้อธิบายได้ก็คือ “แรงเสียดทาน” เนื่องจากวิธีการเดินของคนเราคือถีบที่พื้น ทำให้เกิด แรงเสียดทาน เมื่อใดที่แรงเสียดทานไม่มากพอก็จะลื่น ถ้าเล่นน้ำเพลินไปหน่อย โอกาสที่จะเกิดอันตรายก็มีมาก เพราะเท้าไม่ได้สัมผัสกับพื้นโดยตรง แต่สัมผัสผ่านตัวกลาง ซึ่งก็คือ แป้ง กับ น้ำ บนพื้น จึงทำให้แรงเสียดทานลดลง
“พ่อแม่ผู้ปกครองควรจะแนะนำเยาวชนหรือหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวสงกรานต์ ด้วยนะครับว่าบริเวณที่ราดน้ำเยอะ ๆ เล่นแป้งเยอะ ๆ โอกาสที่จะเกิดอันตรายก็ยิ่งสูง โดยเฉพาะเวลาที่ เลี้ยวโค้ง”
นอกจากนั้น ขอฝากทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า เวลาเล่นสงกรานต์ควรจะรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของไทยด้วย อย่าให้สงกรานต์ กลายเป็นเรื่องลามปาม ที่คอยฉกฉวยโอกาสปะแป้งและลวนลาม คนอื่นไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net