SCB EIC ระบุ AEC ช่วยเปิดฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาค ธุรกิจควรใช้แก่นความสามารถ (core competency) อย่างเต็มรูปแบบมองโอกาสนอกประเทศมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 11, 2011 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ธนาคารไทยพาณิชย์ ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC (Economic Intelligence Center) ได้ศึกษาผลกระทบจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี 2015 ซึ่ง AEC จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก แม้อาจจะยังไม่เห็นภาพแบบสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ทันทีในปี 2015 ทั้งนี้ AEC เป็นมากกว่าเพียงเรื่องการจัดทำข้อตกลงลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันซึ่งเสร็จสิ้นและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ AEC ยังรวมถึงเรื่องการค้าบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งยังมีอีกหลายส่วนประกอบที่ต้องทำอีกมาก โดยการศึกษานี้จะให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการที่จะได้รับผลกระทบในระยะอันใกล้ จากการศึกษาพบว่า AEC จะทำให้ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ และโรงแรมและรีสอร์ทมีแนวโน้มต้องแข่งขันกับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาจากการเปิดให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นสัดส่วน 70% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดสัดส่วนเฉลี่ย 49% และยังอาจส่งผลให้เกิดสมองไหลของแรงงานวิชาชีพไปยังสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งให้ผลตอบแทนสุทธิสูงกว่า ในขณะที่ธุรกิจบริการจะมีโอกาสการลงทุนในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมากขึ้น ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า “AEC จะทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจ มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลกแบบเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ด้วยตลาดที่มีขนาดประชากรกว่า 580 ล้านคน มากกว่าทั้งยุโรป มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับเพียงเกาหลีใต้ แต่เป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมกันคิดเป็นอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจริงในปี 2015 อาจจะยังไม่สามารถเทียบเคียงกับรูปแบบและภาพของสหภาพยุโรปที่มุ่งหวังไว้ในทันที เนื่องจากมีปัจจัยความสำเร็จแตกต่างกัน” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อว่า “กลุ่มธุรกิจบริการจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นจากการเปิดเสรีหลักๆ ใน 2 ส่วน คือ (1) กลุ่มธุรกิจบริการที่มีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นสูงอยู่แล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่าจากการเปิดโอกาสให้นักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้เพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจร้านค้าปลีกอาหาร บริการบรรจุภัณฑ์ และโรงแรมและรีสอร์ท เพราะหมายความว่าเป็นธุรกิจที่มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนสูงในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเข้ามามากขึ้นเมื่อมีการขยายเพดาน และ (2) AEC ยังอาจส่งผลให้แรงงานวิชาชีพสำคัญของไทยเลือกไปทำงานในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียมากขึ้นเนื่องจากผลตอบแทนสุทธิที่พิจารณาผลกระทบจากค่าครองชีพที่ไม่เท่ากันด้วยแล้วสูงกว่าทำงานอยู่ในไทยประมาณ 3 เท่า ทั้งนี้ เป็นผลจากการเอื้ออำนวยให้สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพระหว่างประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น” “หากมองในอีกมุมหนึ่งจะพบว่า AEC ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจบริการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังมีอัตรากำไรของธุรกิจที่สูงกว่าในไทย เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า และห้างสรรพสินค้าในสิงคโปร์ บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการด้านซอฟท์แวร์อินเตอร์เน็ตในมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการที่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องเปิดเพดานการลงทุนจากนักลงทุนอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวเสริม นายวิธาน เจริญผล นักวิเคราะห์อาวุโส กล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจโรงพยาบาลซึ่งเป็นอีกจุดแข็งของไทยจะมีโอกาสลงทุนมากขึ้นจากการเปิดเสรี โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ลาวและพม่าซึ่งยังมีความต้องการบริการด้านสุขภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ และการเลือกเจาะบริการความเชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจะเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในอาเซียน ในขณะที่โรงพยาบาลในประเทศมีแนวโน้มไม่ได้รับผลกระทบจากการขยายสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนอาเซียนมากนัก เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลไทยมีสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเฉลี่ยเพียง 15% ยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดที่อนุญาตในปัจจุบัน” นางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง หัวหน้าฝ่ายวิจัย EIC กล่าวต่อว่า “การใช้แก่นความสามารถ หรือ core compentency อย่างเต็มรูปแบบของธุรกิจไทยจะเป็นอาวุธสำคัญในการขยายและตักตวงโอกาสจากการกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันภายใต้ AEC ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้ทุกธุรกิจสามารถเข้าถึงฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ (critical mass of consumer) ในภูมิภาคได้ และธุรกิจไทยต้องบุกออกไปนอกประเทศมากขึ้น เร่งขยายตลาดในระดับอาเซียนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและความพร้อมสำหรับรองรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับใหญ่ขึ้นต่อไป AEC จะก่อให้เกิดกระแสการรวมศูนย์การผลิต การค้าบริการรูปแบบใหม่ๆ (non-tradables to tradables) เช่น บริการจัดงานแต่งงานที่เดิมเน้นเฉพาะลูกค้าในไทยเป็นหลักก็จะมีลูกค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น รวมถึงการกระจายตัวของประชากรอาเซียนซึ่งจะกลายเป็นอีกตลาดในท้องถิ่น (ASEAN expatriate class) ในขณะที่จะมีกระแสตลาดที่น่าจับตามอง ได้แก่ ตลาดจากพฤติกรรมของคนอาเซียน เช่น นิยมท่องเที่ยวภายในภูมิภาค เป็นต้น ตลาดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ และการเติบโตของชนชั้นกลางในกลุ่มประเทศ CLMV รวมถึงตลาดจากการมองหาจุดเด่นของแต่ละประเทศ เช่น จำนวนประชากรมุสลิมในอินโดนีเซียที่มากที่สุดในโลก เป็นต้น” “การสร้างแบรนด์การบริหารจัดการโรงแรมและการมุ่งเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลเป็นตัวอย่างของการขยายธุรกิจจาก core competency ของไทย โดยใช้จุดเด่นของธุรกิจโรงแรมไทยจับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค และใช้จุดแข็งของธุรกิจผลิตอาหารของไทยที่มีสัดส่วนส่งออกสูงสุดถึง 77% ของอาเซียนจับตลาดมุสลิมขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เป็นต้น” นางเมธินี กล่าวเสริม “AEC เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทยทั้งทางด้านตลาดที่ไทยต้องก้าวออกไปนอกประเทศมากขึ้น และด้านการแข่งขันที่จะเป็นกลไกทำให้ธุรกิจปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศที่จะมาตักตวงโอกาสในประเทศได้ แม้ว่าจะเริ่มมีการบังคับใช้อย่างครบถ้วนมากขึ้นในปี 2015 แต่ธุรกิจควรเริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะอย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2015 ก็เป็นธงที่ตั้งเอาไว้แล้ว” ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Insight เรื่อง “ธุรกิจไทยจะก้าวอย่างไรในยุค AEC” สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 Email: pinattha.aruntat@scb.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ