กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--กรมสุขภาพจิต
จากข้อมูลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมระบุว่าวัยรุ่นไทยให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากที่สุดถึง 47.8 % รองลงมาคือ วัยทำงาน 12.6 % และคู่สมรส 12.5 % และยังระบุอีกว่ากิจกรรมที่วัยรุ่นนิยมทำกันมากที่สุดในวันวาเลนไทน์สูงสุดถึง 42.58 % คือ การไปดูหนัง ฟังเพลง ทานข้าวกับคนรัก และอยู่กันสองต่อสอง ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถนำไปสู่การมีเพศสำพันธ์ได้ง่ายมาก จากเหตุผลหลายประการได้แก่ 1. ความรัก 2. อารมณ์พาไป 3. อยากรู้อยากรอง 4. ความพอใจ 5.การแต่งงาน รวมทั้งวุฒิภาวะที่มีอยู่น้อย และการขาดความยับยั้งชั่งใจของวัยรุ่น จึงทำให้วัยรุ่นมีเพศสำพันธ์เร็วขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุว่า ปัจจุบันวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่งอายุ 15-17 ปี และผลที่ตามมาก็คือ “การทำแท้ง โดยพบว่าร้อยละ 61.3 ของผู้หญิงที่ทำแท้ง เป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี และร้อยละ 29.9 มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งร้อยละ 24.7 เป็นนักเรียน นักศึกษา
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สธ. กล่าวว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จนนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะในวัยรุ่น เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ การมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเทศกาลแต่เทศกาลอาจเป็นโอกาสทำให้เกิดเพศสัมพันธ์มากขึ้นและก็พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) กับพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด ความเข้มแข็งทางจิตใจมีผลต่อการแสดงออกพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
รมช.สธ. กล่าวต่อว่า การลดความเสี่ยงของการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม จำเป็นต้องพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านดี โดยพัฒนาในเรื่องการควบคุมอารมณ์ตนเอง การรู้ถูกผิด รู้ถึงอารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เด็กตระหนักรู้ถึงอารมณ์เพศของตนเอง รู้ว่าเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศจะระบายออกด้วยวิธีที่เหมาะสมอย่างไรหรือสถานการณ์ใดที่เสี่ยงต่อการ ถูกกระตุ้นซึ่งควรหลีกเลี่ยง รวมทั้งตระหนักได้ว่าถ้ามีเพศสัมพันธ์แล้วเกิดผลกระทบขึ้น ถ้ารับผิดชอบสิ่งที่ตามมาไม่ได้ย่อมถูกตำหนิ ลงโทษ ไม่ได้รับการยอมรับ ๒) ด้านเก่ง โดยพัฒนาในเรื่องการตัดสินใจแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีสติ คิดถึงผลที่จะตามมาเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ และ ๓) ด้านสุข โดยพัฒนาในเรื่องของการสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง ซึ่งจะทำให้วัยรุ่นสามารถตัดสินใจได้อย่างมีสติ เป็นตัวของตัวเอง ไม่กลัวคนรักโกรธ มั่นใจในคุณค่าของตนเอง ไม่ตกเป็นเหยื่อของการท้าทาย ไม่พิสูจน์ตนเองด้วยวิธีที่เสี่ยง
รมช.สธ. กล่าวต่ออีกว่า ถ้าประเมินความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กและวัยรุ่น จากพฤติกรรม ๖ ข้อ ได้แก่ ๑.ใจร้อน รอไม่เป็น ๒.ชอบทำสิ่งที่พ่อแม่ห้าม ๓.ติดเพื่อน เกรงใจเพื่อนมากกว่าพ่อแม่๔.ทำอะไรไม่เสร็จ ล้มเลิกง่าย ๕. มีความลับกับพ่อแม่ ปกปิด โกหก และ ๖.เอาแต่ใจ เบื่อง่าย หงุดหงิดง่าย หากพบ เด็กและวัยรุ่นมีพฤติกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ ๒ ข้อขึ้นไป โดยเฉพาะ ข้อ ๒ หรือ ข้อ ๕ เด็กและวัยรุ่น มีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์มากถึงขั้นที่ผู้ปกครองควรต้องระมัดระวังหรือป้องกัน
รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่เผชิญกับความท้าทาย ทั้งในเรื่อง เพศ ยาเสพติด และความรุนแรง เพราะวัยรุ่นจะต้องค่อยๆ เรียนรู้เรื่องการควบคุมตนเอง ซึ่งพ่อแม่และสังคมมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเด็กให้ข้ามพ้นอุปสรรคเหล่านี้และช่วยให้พวกเขาพัฒนาขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะได้ ทั้งนี้ โดยการส่งเสริมให้เด็กและวัยรุ่นทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถตอบสนองความต้องการ รู้จักการมีสัมพันธภาพกับเพศตรงข้ามได้อย่างเหมาะสม มากกว่าการคอยแต่ห้ามปรามหรือตำหนิพวกเขา นอกจากนี้ พ่อแม่ยังสามารถเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมของลูกหลานได้ โดยสังเกตพฤติกรรมเหล่านี้ควบคู่กับการประเมินความฉลาดทางอารมณ์ ได้แก่ ๑.มีคนรักหรือแฟน ๒.มีพฤติกรรมที่ชอบเล่นอินเตอร์เน็ตช่วงดึกๆ ๓. มีกิจกรรมสังสรรค์ที่มีสุราเกี่ยวข้องบ่อย ๔. มีที่พัก/กิจกรรมที่นอกสายตาพ่อแม่ และ ๕.ไม่มีกิจกรรมอดิเรกอื่น ๆ ทำ ซึ่งหากประเมินแล้วพบว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมดังกล่าว ตั้งแต่ ๓ ข้อขึ้นไป โดยเฉพาะข้อ ๑ และ ข้อ ๔ เด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ขึ้นได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ ระมัดระวัง หรือป้องกัน
พ่อแม่ ครู และสื่อ มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกอย่างตรงไปตรงมา ทั้งเรื่องของความสัมพันธ์ของลูกกับเพศตรงข้าม การฝึกให้ลูกได้คิดและประเมินตนเองถึงสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการมีเพศสัมพันธ์ เช่น การอยู่กันสองต่อสอง การถูกเนื้อต้องตัวกัน หรือการดื่มสุรา พวกเขาจะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นอย่างไร จะตัดสินใจอย่างไรถ้าอีกฝ่ายส่งสัญญาณว่าจะมีเพศสัมพันธ์ และถ้าตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ เขาจะป้องกันอย่างไร จะรับผิดชอบตนเองกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ตลอดจนจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ให้เกิดความเสี่ยงได้อย่างไร ทั้งนี้ ความรักก่อให้เกิดพลังทั้งด้านบวกและลบ ทั้งสร้างสรรค์และทำลาย ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ความรักให้เกิดประโยชน์มากน้อยอย่างไร ถ้าคิดจะมีรัก ต้องรู้จักอารมณ์และจิตใจของตนเอง รู้คุณค่าในตัวเอง รู้ว่าควรทุ่มเทใจของตัวเองมากน้อยเพียงใดและสมควรได้รักตอบเพียงใด นอกจากนี้ ควรรักอย่างสมดุลแบบ ๕๐ -๕๐ ไม่มากไปหรือน้อยไปและพึงระลึกไว้เสมอว่า การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นไม่ได้ทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ และที่สำคัญการแสดงความรักไม่จำเป็นต้องแสดงออกเฉพาะวันวาเลนไทน์หรือแสดงออกด้วยการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น และความรักที่มีคุณค่าไม่ได้เป็นเพียงความรักแบบชายหนุ่มหญิงสาว แต่ความรักสามารถส่งถึงให้กันได้ในทุกรูปแบบกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทั้ง พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน หรือสัตว์เลี้ยง ฯลฯ รมช.สธ. กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025908409 กรมสุขภาพจิต